เครื่องหมายการค้า
บริการจดทะเบียนธุรกิจ
Contact Us
Notice
บริการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Trademark
เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ประโยชน์
1 ทางธุรกิจ : สร้างการจดจำต่อผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับชื่อเสียง (Goodwill)
2 ทางกฎหมาย มีสิทธิใช้แต่เพียงผู้เดียว หากถูกผู้อื่นละเมิด สามารถฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย หรือเพิกถอนการจดทะเบียน อีกทั้งยังสามารโอนสิทธิ หรือรับมรดก หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน
ประเภทของเครื่องหมาย มี 4 ประเภท ดังนี้
1 เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น SINGHA DRINKING WATER S&P บรีส มาม่า กระทิงแดง TOYOTA KODAK KARAT Wacoal เป็นต้น
2 เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น Thai Airways Nok Air ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพ ธนชาต บางจาก MCOT เป็นต้น
3 เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับ สินค้า และบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม เปิบพิสดาร แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) อาหารปลอดภัย กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น
4 เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นต้น
การได้มาซึ่งสิทธิ
ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ามิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะต้องนำเครื่องหมายการค้าที่คิดขึ้นไปทำการยื่นขอรับความคุ้มครองและได้รับการจดทะเบียน จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เสียก่อน จึงจะได้รับความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ลักษณะของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมที่จะจดทะเบียนได้ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ
1 มีลักษณะบ่งเฉพาะ คือ มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ซื้อสินค้านั้นจดจำ แยกแยะ ทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น เช่น รูป หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้น ลายมือชื่อหรือภาพของผู้เป็นเจ้าของ เป็นต้น
2 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ธงชาติ เครื่องหมายราชการ พระบรมฉายาลักษณ์ ตราแผ่นดิน เป็นต้น
3 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจจะทำให้สาธารณชนสับสน หรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โดยพิจารณาจากคำเสียงเรียกขาน รูปหรือภาพและการประดิษฐ์ของเครื่องหมาย เป็นต้น
ระยะเวลาการคุ้มครอง : 10 ปี เมื่อจะครบกำหนดสามารถที่จะต่ออายุได้เป็นคราวๆ คราวละ 10 ปี โดยต้องยื่นคำขอต่ออายุภายใน 90 วันก่อนวันสิ้นอายุ
ข้อแนะนำก่อนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า : ควรตรวจค้นข้อมูลเบื้องต้นในฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อตรวจดูความเหมือนคล้ายกับกันเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ทาง www.ipthailand.go.th
บทกำหนดโทษ
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
มาตรา 107 กรณีแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหรือคณะกรรมการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 108 กรณีปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองเครื่องหมายร่วม จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109 กรณีเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 274 ผู้ใดเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 272 ผู้ใด
(1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น
(2) เลียนป้าย หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันจนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง
(3) ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของผู้หนึ่งผู้ใด โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้