คดีอาญา
Contact Us
Notice
คดีโกงเจ้าหนี้
ภายหลังจากเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีต่อศาลแล้ว ลูกหนี้คนใดมีทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะถูกบังคับคดีได้ แต่กลับได้โอน เปลี่ยนชื่อไปให้แก่ผู้อื่น หรือแกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความสียหาย
เจ้าหนี้สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาต่อลูกหนี้และตัวผู้รับโอน เป็นจำเลยร่วมได้
ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 349 ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 351 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
คำพิพากษาศาลฏีกาที่น่าสนใจ
ประเด็น นอกจากจะโดนฟ้องโกงเจ้าหนี้แล้ว อาจโดนช้อหาเบิกความเท็จ ได้อีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2517
จำเลยที่ 1 แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำเลยที่ 2 อันไม่เป็นความจริงย่อมมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้รับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้ ถือว่าได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ในการพิจารณาคำขอเฉลี่ยทรัพย์ จำเลยทั้งสองเบิกความว่ามีหนี้สินต่อกัน อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จและจำเลยที่ 2 ผู้อ้างอิงสัญญากู้เป็นพยานหลักฐาน มีความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จอีกด้วย
โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เบิกความเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้
ประเด็น ฟ้องเรียกข้อหาละเมิด หากยังไม่มีคำพิพากษา ไม่ถือว่าเป็นหนี้ต่อกัน จึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2539
แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประเด็น โกงที่ดินชาวต่างชาติ ขายไป ถือเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2537
แม้การที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 86 จะทำให้คนต่างด้าวนั้นถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามมาตรา 94 แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวจะไม่มีผลเสียเลย เนื่องจากคนต่างด้าวยังคงมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ทั้งยังมีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินซึ่งได้จากการจำหน่ายตามมาตรา 54 ดังนั้น แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อมาได้ กรณีถือว่าคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากจำเลยที่ 1 โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายที่ดินและบ้านดังกล่าวไปเสีย จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ประเด็น โกงที่ดิน สินสมรสไปขาย แม้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ถือว่ามีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6761/2544
การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ภรรยาของโจทก์ซึ่งมีชื่อในโฉนดที่ดินได้ร่วมกันขายที่ดินอันเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้กับผู้อื่นภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ขอหย่าแบ่งสินสมรส และฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่ง ขอให้โอนที่ดินแปลงพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้มีนิติกรรมผูกพันที่จะต้องขายมาก่อน มิใช่เป็นการขายไปในลักษณะปกติแม้คดีแพ่งจะยังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว เข้าองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ประเด็น ขายที่ดินไปก่อน ได้รับจดหมายทวงหนี้ ไม่ถือเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2899/2543
ก่อนที่จำเลยจะโอนขายที่ดินให้ผู้อื่น โจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงิน อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยังไม่คิดจะฟ้องคดีให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จึงยังไม่เกิดขึ้น และในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ก็หาทำให้ผลการกระทำของจำเลย อันไม่เป็นความผิดเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็น ความผิดจะครอบองค์ประกอบ เจ้าหนี้ต้องได้ใช้สิทธิฟ้องศาลก่อนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประเด็น ลูกหนี้เป็นบริษัท ให้ฟ้องกรรมการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2557
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ซึ่งคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 มีองค์ประกอบสำคัญที่ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 โอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากจำเลยที่ 1 ได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงเฉพาะบุคคลผู้ที่ชนะคดีและคดีได้ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายความถึงเจ้าหนี้ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้ที่มีต่อนิติบุคคลดังกล่าวบังคับการชำระหนี้จากนิติบุคคลดังกล่าว ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ด้วย ดังนี้ คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งจึงมิใช่องค์ประกอบความรับผิดในทางอาญา เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 3 ภายหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องและต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 กรณีลูกหนี้ชดใช้ค่าเสียหาย หากมีหนี้คงค้างอยู่จำนวนมาก ศาลมักจะลงโทษจำคุกจำเลย
อัตราค่าบริการว่าความ คดีโกงเจ้าหนี้
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี โกงเจ้าหนี้ |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท