คดีอาญา
Contact Us
Notice
"ก่อนจะพูด จะโพส อะไร ให้พึงมีสติ"
คดีหมิ่นประมาท ในยุคสมัยนี้ มักจะพบในรูปแบบของสื่ออินเตอร์เนตเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งการตั้งกระทู้ในเว็ปไซต์ การโพสข้อความ หรือรูปภาพทางเฟสบุ๊ก(facebook) หรือแม้กระทั่งการลงข้อความ หรือคลิปวิดิโอผ่านทางไลน์(LINE)
» การใส่ความพฤติกรรมในทางเสื่อมเสีย เช่น ในทางประเวณี ความประพฤติชั่ว ฐานะการเงินไม่น่าเชื่อถือ หรือทุจริตในการทำงาน เป็นต้น
» ผู้ถูกใส่ความ อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้
» การใส่ความต่อบุคคลที่สาม ความผิดจะสำเร็จต่อเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจและรับทราบข้อเท็จจริงจากการหมิ่นประมาท
» สำหรับการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหายยังสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีได้รับความเสียหายได้อีกด้วย
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น ด่า "อีเมียน้อย"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541
จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า "มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรส.อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ"ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ประเด็น ใช้ชื่อตัวอักษรย่อ และต้องไปสืบค้นหาภายหลังเพิ่มเติมว่าคือใครกันแน่??? ไม่ถือว่าเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
ประเด็น ใช้นามปากกา ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2542
การใช้นามปากกาแทนชื่อจริง บุคคลทั่วไปจะรู้จักแต่นามปากกาไม่สามารถรู้ชื่อจริงได้ แม้จะเป็นบุคคลหรือเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นก็ตาม เพราะการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่นั้นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ขึ้นมา ได้ว่านามปากกาใดเป็นของผู้ใด คำเบิกความของ พันตำรวจโท อ. ไม่ได้แสดงเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่าตนรู้ได้อย่างไรว่าจำเลยที่ 2 ใช้นามปากกาว่าคมแฝกพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก คดีรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนคอลัมน์สังคมบ้านเรา ในหนังสือพิมพ์บ.โดยใช้นามปากกาว่าคมแฝก
ประเด็น การใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ความจริง ไม่ถือว่าเป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2521
จำเลยฟ้องขอหย่าขาดกับสามีโดยอ้างเหตุว่าสามีไปติดพันหญิงอื่นคือโจทก์และสามีได้ไปอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผย ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นจะต้องกล่าวในฟ้องให้สามีจำเลยเข้าใจข้อหาโดยชัดเจน ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต จึงถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ประเด็น เผยแพร่คำพิพากษาให้จำเลยในคดีได้รับความเสียหาย
คำพิพากษาฎีกา 10511/2555
การที่จำเลยนำรูปถ่ายเอกสารของผู้เสียหายติดไว้ในสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 522/2546 ของศาลชั้นต้น รวมทั้งเขียนข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อบิดามารดารวมทั้งวันเดือนปีเกิดของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับคดีความแล้วใช้ปากกาเน้นข้อความสีเหลืองสะท้อนแสงระบายข้อความในสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวตรงคำว่า เรื่อง ยืมและจำนวนเงินที่ผู้เสียหายจะต้องชำระ รวมทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมทั้งหมด จากนั้นนำสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวติดไว้ที่ร้านค้าของจำเลยที่ตั้งอยู่ในตลาดซึ่งมีประชาชนผ่านไปมา จึงเป็นการใส่ความผู้เสียหายโดยการโฆษณา และไม่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329(4)
ประเด็น กล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2503
จำเลยซึ่งเป็นครูใหญ่ประชาบาล กล่าวว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ นั้น ถ้อยคำที่กล่าวนี้ ถ้าเป็นความจริง ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนเพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอันเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อนึ่ง ที่จำเลยกล่าวว่า "การทำทำนบผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสอาด" นั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระแต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านได้ขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกักน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงจะซื้อปูนซิเมนต์ส่งมาให้ แต่ผู้เสียหายได้เอาเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยมิได้ให้จำเลยทราบ การทำทำนบจึงไม่เสร็จ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท
การกล่าวที่จะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้ว กรณีหาเข้ามาตรานี้ไม่
ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วย เอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวร้องด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
การหมิ่นประมาท ทางแพ่ง หรือกฎหมายเรียกว่า การกล่าวหรือไข่ข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความฝ่าฝืนความจริง(เป็นเท็จ)
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2543
โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2485 มาตรา 48 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษาส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 วรรคหนึ่ง
ประเด็น จำนวนค่าเสียหายของอนาคตว่าที่นายกรัฐมนตรี คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7869/2542
โจทก์เป็นนักการเมืองอาวุโสมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันถึง 6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ขณะเกิดเหตุเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม โจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งขาดความเชื่อถือทางการค้า และสูญเสียโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. หากพิจารณาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำคุก พร้อมค่าปรับ หากปรากฎว่าจำเลยยังไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน ศาลจะมีคำพิพากษาให้รอลงอาญาไว้
2. เงินค่าประกันตัว 10,000 - 20,000 บาท
อัตราค่าบริการว่าความ คดีหมิ่นประมาท
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี หมิ่นประมาท |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท