คดีอาญา
Contact Us
Notice
คดียักยอกทรัพย์
ปัจจุบัน มีผู้โทรมาสอบถามเกี่ยวกับความผิดข้อหายักยอกทรัพย์กันเป็นจำนวนมาก ทางสำนักงานฯจึงขอสรุปประเด็นที่สำคัญไว้ ดังนี้
» กรณีที่ผู้กระทำความผิด ได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เช่น ยักยอกเงิน ต่างจำนวน ต่างวันเวลา ไปหลายครั้ง เป็นต้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว ไม่เกิน 10 ปี ตามกฎหมายอาญา มาตรา 91
» กรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น ร่วมกันวางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากการยักยอก ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้น ถือเป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย
» คดียักยอกทรัพย์เป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว หรือที่เรียกว่าความผิดอันยอมความได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 นั้น ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ฉะนั้น คดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดี หรือฟ้องร้องคดีอาญาเอง ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
ซึ่งการรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความ ตามมาตรา 95 ด้วย ดังนั้นการร้องทุกข์ก็ดี การใช้สิทธิฟ้องคดีเองก็ดี ก็ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 95 (3)
อธิบายได้ว่า หากเป็นผู้ได้รับความเสียหาย คุณรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อใด ก็จะต้องดำเนินการร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีอาญาภายใน 3 เดือน นับแต่นั้น ถ้าทราบเหตุภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ ต้องดำเนินคดีภายใน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ และต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เหตุรู้ตัว ถ้าดำเนินคดีเกิน 3 เดือนนับแต่รู้ แม้จะไม่เกิน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุ คดีจะขาดอายุความ ตามมาตรา 96 แต่ถ้ารู้เมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันเกิดเหตุแล้ว ก็ดำเนินคดีไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความ ตามมาตรา 95 (3)
ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง
ความผิดฐานยักยอก
มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 355 ผู้ใดเก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่าอันซ่อนหรือฝังไว้โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น ข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นคดีอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีเอง ภายใน 3 เดือน มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้
ประเด็น ยักยอกรถยนต์ที่เช่าซื้อ แล้วนำไปจำนำหรือขาย มีความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7727/2544
จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด มีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่
ประเด็น ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ครอบครองทรัพย์ ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีอำนาจร้องทุกข์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2531
ผู้ครอบครองทรัพย์ แม้มิใช่เป็นเจ้าของ ก็เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
ประเด็น ยักยอกทรัพย์นายจ้าง แล้วทำหนังสือรับสารภาพให้ไว้แก่นายจ้าง
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 270/2558
ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไป
กรณีเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรสไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ประเด็น ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. การยักยอกเงินไปเป็นจำนวนมาก หากไม่มีการชดใช้ หรือบรรเทาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ปกติศาลมักจะไม่รอการลงโทษ หรือรอลงอาญา
2. เมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะมีขั้นตอนของการสมานฉันทร์ เพื่อชดใช้ความเสียหาย ซึ่งก็สามารถขอผ่อนชำระเงินได้
3. ผู้เสียหาย / โจทก์ ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิหรือเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ถูกยักยอก มิใช่เพียงผู้ถือกรรมสิทธิแทน
อัตราค่าบริการว่าความ คดียักยอก
|
||
ลำดับ |
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท