Company Logo

Contact Us

Notice

    มรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ถึงแก่ความตาย เว้นแต่ว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

    ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สิน และแบ่งมรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับ 

 

ผู้จัดการมรดก มีที่มา 2 ทาง : ตามพินัยกรรมระบุไว้ หรือโดยคำสั่งศาล

 

ทายาทโดยธรรม มี 6 ลำดับ

1 ผู้สืบสันดาน รวมทั้งบุตรที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์

2 บิดามารดา

3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4 พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

5 ปู่ ย่า ตา ยาย

6 ลุง ป้า น้า อา

สำหรับสามีภริยา ต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น

 

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

» ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกจริงๆ หรือผู้รับพินัยกรรม

» ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น

» พนักงานอัยการ

 

คุณสมบัติผู้จัดการมรดก

1 บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์

2 ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

3 ไม่เป็นคนล้มละลาย

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1 เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

2 มรณบัตร

3 เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สมุดเงินฝากธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน เป็นต้น

4 บัญชีเครือญาติ

5 หนังสือยินยอมให้เป็นผู้จัดการมรดกจากทายาท

6 พินัยกรรม (ถ้ามี)

7 หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1 ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท

2 ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3 ค่าปิดประกาศแจ้ง ณ ภูมิลำเนาผู้ตายหรือที่ว่าการอำเภอ ตามอัตรานำหมายของศาล 300 - 700 บาท

 

ระยะเวลาในการดำเนินการ

    เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว จะนัดไต่สวนคำร้องประมาณ 2 เดือน หลังจากไต่สวนคำร้องเสร็จ 1 เดือน ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อใช้ดำเนินการต่อไป

 

เขตอำนาจศาล

1 ตามภูมิลำเนาของเจ้ามรดก

2 ถ้าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศ ให้ไปศาลทีทรัพย์ตั้งอยู่

 

อำนาจของผู้จัดการมรดก

   ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

   หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้

 

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง ดังนี้

1 จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ภายใน 15 วัน และต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากไม่เสร็จก็สามารถขออนุญาตต่อศาลขยายระยะเวลาอีกได้

 » บัญชีทรัพย์มรดก ต้องมีพยานรับรอง 2 คน โดยต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย

 » ต้องประกอบด้วย รายการแสดงทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง เงิน มูลค่า และแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ เป็นเงินรวมเท่าใด

 » ถ้ามิได้จัดทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

2 ต้องจัดการทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปันมรดกแก่ทายาททั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งตั้ง โดยจำนวนเสียงข้างมากของทายาท หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

3 ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนเสียงข้างมากจะได้กำหนดไว้

4 จะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล

5 ต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง

6 ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใดๆ หรือประโยชน์อื่นใดอันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย

7 ต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสีย และแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร     

8 ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก

9 ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็วโดยชำระหนี้กองมรดก(ถ้ามี)เสียก่อน

 

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

1 ตาย

2 ลาออก ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ

3 ศาลมีคำสั่งถอน

4 ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น

5 การจัดการมรดกสิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ต้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก จึงจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2525

    ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึง ทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

 

ประเด็น ผู้จัดการมรดกหลายคน ไม่สามารถจัดการได้โดยลำพัง ต้องร่วมกันจัดการโดยถือตามเสียงข้างมาก หากเท่ากันให้ศาลชี้ขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2542

     โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาทจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายชนะคดีและได้มีการบังคับคดีในเวลาต่อมา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ กรณีเป็นเรื่องมีผู้จัดการมรดกหลายคน โจทก์ทั้งสามแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2คัดค้านคำร้อง ของ โจทก์ที่ 3 ที่ขอให้งดการบังคับคดีกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1726 โจทก์ที่ 3 ไม่อาจกระทำได้โดยลำพัง

 

ประเด็น ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน (แม้จะโดยพินัยกรรมก็ตาม) ต่อมายังจัดการไม่เสร็จสิ้น คนหนึ่งคนใดเสียชีวิต คนที่เหลือจะจัดการมรดกต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ และถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งศาล ทางแก้ไขคือ ต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเดิม เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553

    แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 461/2514

    ศาลตั้งให้โจทก์กับ อ. เป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม เมื่อ อ. ตาย โจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินการจัดการมรดกต่อไปตามลำพังไม่มีอำนาจเบิกเงินกองมรดกจากธนาคาร โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว

 

เหตุขอถอดผู้จัดการมรดก และตั้งผู้จัดการมรดกแทน

1 ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ เช่น มิได้ทำบัญชีทรัพย์ให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทในเวลาที่สมควร

2 เพราะเหตุอย่างอื่น เช่น ปกปิดทายาทต่อศาล หรือไม่ติดตามหาทายาทของเจ้ามรดก หรือผู้จัดการมรดกคิดค่าจ้างในการจัดการมรดกเป็นจำนวนมากอันส่อไปในทางทุจริต หรือประมาทเลินเล่อ เป็นต้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3936/2528

   ในการร้องขอสั่งถอนผู้จัดการมรดก เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดก ยังมีปัญหาข้อแย้งกันอยู่ว่าจะแบ่งตามคำพิพากษาหรือตาม สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งทายาทบางคนลงชื่อ ทั้งการ แบ่งทั้ง 2 ประการก็ผูกพันเฉพาะทายาทบางคนที่เป็นคู่ความ ตามคำพิพากษาและทายาทที่ลงชื่อในสัญญาการจัดการมรดก จึงยังไม่เสร็จสิ้นผู้จัดการมรดกจะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปัน ให้แก่ทายาทซึ่งมิได้เป็นคู่ความตามคำพิพากษาและมิได้ลงชื่อเป็น คู่กรณีในสัญญาประนีประนอมยอมความการที่จะสั่งถอนผู้จัดการมรดก ในขณะนี้จึงไม่ชอบ

 

อายุความคดีจัดการมรดก

ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกิน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

   เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา 1731 ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

มาตรา 1733 วรรค 2 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

กรณีผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 เงื่อนไขในคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ต้องแถลงว่ามีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง และมีเหตุขัดข้องในการจัดการอย่างไร

2 ผู้เหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดก จะเป็นใครก็ได้ แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นก็ได้ ถ้าหากมีการคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยส่วนมากแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน

ชาวต่างชาติ สามารถยื่นคำร้องขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดข้อยุ่งยากในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2541

4 สามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์มรดก สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2520

5 นิติบุคคล เช่น มูลนิธิ สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3166/2529 1127/2524

6 ผู้จัดการมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่หากตั้งหลายคนแล้วเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ไม่เป็นผลดีต่อกองมรดก ศาลอาจตั้งแค่คนเดียวก็ได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 204/2530

7 ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้ามรดก สามารถยื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้ ในฐานะตัวแทนโดยชอบธรรมของบุตรที่บิดาให้การรับรองแล้ว อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538

8 กรณีพินัยกรรมระบุผู้จัดการมรดกไว้ ให้ศาลตั้งตามนั้น แต่ศาลก็ยังสามารถใช้ดุลพินิจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมเป็นผู้จัดการมรดกได้ด้วย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7033/2557

9 หากผู้ตายไม่มีบุตร ผู้ร้องต้องแถลงต่อศาลด้วยว่า ผู้ตายมีรับใครเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่?

 

                             

                              อัตราค่าบริการว่าความ คดีตั้งผู้จัดการมรดก                                                                                    

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

 

ขอตั้งผู้จัดการมรดก กรณีมี/ไม่มีพินัยกรรม 

ายาทให้ความยินยอม   

 

 -x-

 

2

 

 

ขอตั้งผู้จัดการมรดก กรณีทายาทคัดค้าน    

 

 -x-

 

3

 

 

คัดค้านขอตั้งผู้จัดการมรดก                                      

 

-x-

 

4

 

 

 

ถอดถอนผู้จัดการมรดก เพื่อตั้งตนเป็นแทน    

หรือผู้จัดการมรดกขอลาออกเอง             

 

 -x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.