Company Logo

Contact Us

Notice

“สิทธิเก็บกิน” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อยู่ เพียงแต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามามีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สิน ตลอดจนมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ 
การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียดังนี้ 
ข้อดี คือ ไม่ต้องเสียค่าตอบแทน สามารถจดทะเบียนสิทธิให้สิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิได้ รวมทั้งผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถเอาทรัพย์ให้ผู้อื่นเช่าและเก็บค่าเช่าได้  ส่วนข้อเสียคือ ผู้ทรงสิทธิไม่ได้กรรมสิทธิ์, ถ้าผู้ทรงสิทธิตาย สิทธิเก็บกินระงับ โอนทางมรดกไม่ได้ อีกทั้งเจ้าของทรัพย์อาจจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่บุคคล 2 คนในเวลาเดียวกันก็ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าระยะเวลาที่ยาวนานกว่าสำหรับการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนเช่าซึ่งสามารถกำหนดระยะเวลาได้สูงสุดเพียง 30 ปีเท่านั้น
ในกรณีที่บุคคลต่างด้าวเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินนั้น สามารถอธิบายดังนี้ 
โดยปกติ กฎหมายห้ามบุคคลต่างด้าวเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เนื่องจากการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น เจ้าของไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ทรงสิทธิด้วย ถึงแม้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเป็นบุคคลต่างด้าว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงขอจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่บุคคลต่างด้าวเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินได้  ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินว่าจะอนุญาตให้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอาจพิจารณาจากการสอบสวนคู่กรณีประกอบกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพราะอาจมีกรณีที่ควรเชื่อว่าจะมีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว หรือเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 
ส่วนในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหิน มีสิทธิทำการแสวงประโยชน์จากป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคสามนั้น ซึ่งอาจเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้กับคนไทยเป็นผู้ทรงสิทธิเท่านั้น จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้กับคนต่างด้าวไม่ได้เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องห้ามไม่ให้คนต่างด้าวทำ ทั้งนี้ตามบัญชีท้าย แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
การที่คนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โดยคงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ซึ่งสิทธิครอบครองย่อมรวมถึงสิทธิในการอาศัยอยู่ในทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม หากคนต่างด้าวต้องการใช้สิทธิเก็บกินเพียงเพื่อมีสิทธิครอบครองหรืออาศัยอยู่ในทรัพย์สินเท่านั้น และไม่ได้ใช้เพื่อประกอบกิจกรรมทางการค้าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอาจจะพิจารณาและตัดสินโดยเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิเก็บกินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย และแนะนำให้คนต่างด้าวจดทะเบียนสิทธิอาศัยแทนการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสอบสวนคู่กรณีและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ประเภทการจดทะเบียน
          ๑.  สิทธิเก็บกิน  หมายถึง  กรณีอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
          ๒.  สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน  หมายถึง กรณีที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ใช่ทุกคนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในอสังหา-
ริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนทั้งหมด
          ๓. ปลอดสิทธิเก็บกิน  หมายถึง  กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป  คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปหรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
          ๔. ครอบสิทธิเก็บกิน  หมายถึง  กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป  คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปด้วย
          ๕. เลิกสิทธิเก็บกิน  หมายถึง  กรณีที่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ต่อมาคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน  หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกิน
ถึงแก่ความตาย  และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย 
สาระสำคัญ
-  ผู้ทรงสิทธิเก็บกินตาย  สิทธิเก็บกินระงับ
          1.  ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน(ซึ่งได้จะทะเบียนสิทธิเก็บกินแล้ว)  มีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น
          2.  ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน  มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน
          3.  และเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกิน  ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิตามกฎหมายแล้วผู้ทรงสิทธิเก็บกิน  ย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนนั้น  ในอันที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้
          อนึ่ง  การจดทะเบียนทรัพยสิทธิ (สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน)  สามารถจดทะเบียนให้แก่บุตรได้โดยไม่จำกัดอายุ  เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดอายุของบุตรที่จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินเอาไว้
          ส่วนสถานที่ที่จะไปทำการจดทะเบียนนั้น  จะต้องไปทำการจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ที่อสังหาริมทรัพย์ที่เราทำการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินอยู่ในเขต  และส่วนวิธีการจดทะเบียน  เมื่อคุณไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน  ทางเจ้าหน้าที่ก็จะชี้แจงและให้คำแนะนำแก่คุณเอง
          อนึ่ง  กิจการที่สามารถจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้  ก็แต่เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
         มาตรา 1298  ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
 
บริการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน



Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.