Company Logo

Contact Us

Notice

    แชร์ คือ สิ่งที่อยู่คู่สังคมประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน เดิมนั้นไม่มีกฎหมายควบคุม เนื่องจากปัจจุบันได้รับความนิยมและเล่นกันเป็นอย่างกว้างขวาง การเล่นแชร์ดังกล่าวจึงยังกระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบ แล้วรัฐจึงได้ออกกฎหมายห้ามการประกอบธุรกิจประเภทนี้ ส่วนการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ยังให้กระทำต่อไปได้
    การเล่นแชร์ ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูล หรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
 
คำถาม-ตอบ
การเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีข้อห้ามตามกฎหมายอย่างไรบ้าง?  
ตอบ ข้อห้ามตามกฎหมายที่มิให้เป็นนายแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีดังต่อไปนี้
1. ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนก็ห้ามด้วยเช่นกัน
2. บุคคลธรรมดา ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์
 2.1. ห้ามมิให้มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน
 2.2. ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง    
 2.3. ห้ามนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวง เป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท
 2.4. นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่ง โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเท่านั้น
    นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนาย
    วงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย ซึ่งเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น นิติบุคคลไม่อาจสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนาย
    วงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ได้ การที่สมาชิกวงแชร์เข้าร่วมเล่นแชร์กับบุคคลธรรมดาอันมีลักษณะต้องห้ามตาม ข้อ 2.1 , 2.2 , 2.3 และ 2.4 นั้นไม่ทำให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดซึ่งสมาชิกส่งรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูล หรือโดยวิธีอื่นใดแล้วต้องเสียไปเปล่า สมาชิกวงแชร์สามารถฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัด ให้มีการเล่นแชร์ได้
 
การโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์สามารถทำได้หรือไม่?     
ตอบ การโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าอนุญาตให้มีการโฆษณาชี้ชวนแล้ว จะมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ การใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในทางธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน และรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วต้องห้ามตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการประกาศของรัฐมนตรีแล้ว ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำที่รัฐมนตรีประกาศอยู่แล้ว ในมีวันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ
 
การเล่นแชร์กันก่อนที่กฎหมายประกาศ ใช้บังคับจะมีผลหรือไม่อย่างไร?       
ตอบ 
1. ผู้ที่เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์กันก่อนที่กฎหมายจะกำหนดข้อห้าม อาจดำเนินการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
2. ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลและประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการ เล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายการเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน
3. ถ้านิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์ให้นิติบุคคลยื่นคำขอต่อนายทะเบียนยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นยังมีการเล่นแชร์ที่ค้างอยู่ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวอย่างช้าต้องไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับใช้
4. สัญญาที่นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับสามารถใช้ได้
5. ผู้ที่ใช้ชื่อหรือแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” อยู่แล้ว ในวันที่กฎหมายใช้บังคับให้ใช้ชื่อหรือคำแสดงดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เป็นผู้ที่มีวงแชร์ค้างอยู่ก็จะต้องดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
 
การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์มีโทษแค่ไหนเพียงใด?
ตอบ 
การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์ มีทั้งโทษปรับและจำคุก แล้วแต่ลักษณะของความผิดที่น่ารู้ มีดังต่อไปนี้
1. การที่บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนมากกว่า 3 วง หรือมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หรือนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า ถึง 3 เท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์
3. ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
4. ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์หรือสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใด แทนนายวงหรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย
5. ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน
 
อ้างอิงที่มา สำนักอัยการสูงสุด
 
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. เมื่อเจ้ามือหรือเจ้าลูก ผิดสัญญาสามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเรียกให้ชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยได้
2. ปัจจุบันยังมีความเข้าใจอยู่ว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีถูกโกง จึงไม่ไปดำเนินการแจ้งความหรือใช้สิทธิฟ้องร้องคดี 



Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.