Company Logo

Contact Us

Notice

คดีขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ และผู้อยู่ในปกครอง

   เด็กผู้เยาว์ที่บิดามารดาถึงแก่ความตายไปแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องตั้งผู้ปกครอง เพื่อมาคุ้มครองดูแล ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นญาติของเด็ก ให้มาทำหน้าที่จนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะ

 

วิธีการตั้งผู้ปกครอง : เฉพาะโดยคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมีบุคคลที่จะสามารถขอได้ ดังนี้

1. ญาติของเด็ก

2. อัยการ

3. บุคคลซึ่งพินัยกรรมระบุให้เป็นผู้ปกครอง

 

คุณสมบัติของผู้ปกครอง

1. บรรลุนิติภาวะ

2. ไม่เป็นบุคคลไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

4. ไม่เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

5. ไม่เป็นบุคคลซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ หรือญาติสนิทของผู้เยาว์

6. ไม่เป็นบุคคลที่บิดาหรือมารดาห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

 

สิทธิและหน้าที่

1. ผู้ปกครองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นศาลอาจสั่งถอนได้ และยังต้องทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละ 1 ครั้ง

2. ถ้ามีหนี้สินต่อกัน ต้องแจ้งต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน

3. ผู้ปกครองเป็นผู้แทนของผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีสิทธิเช่นเดียวกับบิดามารดา รวมทั้งอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน

4. หากผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี การจัดการทรัพย์สินต้องปรึกษาผู้เยาว์ก่อน

5. ผู้อยู่ในปกครองไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครอง

6. ผู้อยู่ในปกครองไม่มีสิทธิใช้นามสกุลผู้ปกครอง

7. ผู้อยู่ในปกครองมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้ปกครองได้

8. ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมต่อกัน

 

การสิ้นสุดของผู้ปกครอง

1. บรรลุนิติภาวะ หรือตาย

2. ล้มละลาย

3. ลาออก

4. กลายเป็นบุคคลไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

4. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่

5. ใช้อำนาจหน้าโดยมิชอบ

   เมื่อความปกครองสิ้นสุดแล้ว ผู้ปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินพร้อมทั้งบัญชีคืนให้ผู้อยู่ในปกครองโดยเร็ว หากนำเงินไปใช้ส่วนตัว ต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี นับแต่วันที่นำเงินไปใช้

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง มีดังนี้

1. สูติบัตรของผู้เยาว์   

2. ใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้เยาว์

3. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้ร้อง

4. ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล (ถ้ามี)

5. ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้อง กับผู้เยาว์ 

6. บัญชีเครือญาติ

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3. ค่าปิดประกาศคำร้อง ตามภูมิลำเนาผู้ร้อง ไม่เกิน 700 บาท

4. ค่าส่งหมายและสำเนาคำร้องไปยังคู๋ความอีกฝ่าย ไม่เกิน 700 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น มีมารดาใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว ญาติทางบิดาจะขอร่วมใช้อำนาจปกครองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4990/2537

   กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566(6) เมื่อเด็กหญิง ว. ผู้เยาว์มีมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว การที่จะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว แต่เมื่อเด็กหญิง ว. ยังมีจำเลยซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่ โดยยังไม่ได้ถูกถอนอำนาจปกครอง กรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้อีก ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590

 

ประเด็น บิดายังมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง ยายไม่มีอำนาจมาร้องขอตั้งเป็นผู้ปกครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2491

   ยายจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนรับรองบุตรที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นบิดาของเด็กหาได้ไม่

เมื่อเด็กยังมีบิดาอยู่ และโดยที่บิดามิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว ยายไม่มีอำนาจร้องขอเป็นผู้ปกครองเด็ก

 

ประเด็น กฎหมายไม่ได้บังคับให้ตั้งผู้ปกครอง และการตั้งผู้ปกครองก็เป็นคนละเรื่องกับการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2542

   การตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว เมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์มีมารดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครอง กรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ การจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ต้องเป็นที่แน่ชัดว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้วทั้งสองคน แม้บิดาผู้เยาว์ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เยาว์ยังมีมารดาซึ่งทิ้งร้างไปอยู่ที่อื่น ยังไม่แน่ว่ามีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว เหตุนี้จึงยังไม่อาจตั้งผู้ปกครอง เพื่อทำหน้าที่แทนบิดามารดาได้ กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องตั้งผู้ปกครองให้กับผู้เยาว์เสมอไป การตั้งผู้ปกครองของผู้เยาว์เป็นคนละกรณีกับการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ หาใช่เหตุที่จะนำมาซึ่งการตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ไม่

 

ประเด็น การถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลเท่านั้น กรณีตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองท้ายทะเบียนการหย่า ต่อมาเมื่อฝ่ายที่ใช้อำนาจปกครองตาย อำนาจจึงกลับคืนไปอยู่กับอีกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548

   ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. ซึ่งเป็นบิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครอง เพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

   ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา 1582 วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้

มาตรา 1586 ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง

   ภายใต้บังคับมาตรา 1590 การตั้งผู้ปกครองนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา 1587

มาตรา 1587 บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่

(1) ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

(2) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย

(3) ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

(4) ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์

(5) ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีบิดามารดาเด็ก อยู่ต่างประเทศ แต่มิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง จะขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองไม่ได้

2. หากเพียงบิดาเสียชีวิต แต่ยังมีมารดาอยู่ บุคคลอื่นแม้จะเลี้ยงดูนานเท่าใดและสิ้นเงินไปมากเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิขอตั้งเป็นผู้ปกครอง

3. กรณีเด็กถูกทิ้งข้างถนน ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องทดลองเลี้ยงดูชั่วคราวก่อนไม่เกิน 6 เดือน หรือให้สถานพินิจฯกำกับดูแล เพื่อทำรายงานประกอบการพิจารณาคดีของศาล

4. กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตาย บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมามีอำนาจปกครองผู้เยาว์ทันที ไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้

5. การตั้งผู้ปกครอง เป็นคนละกรณีกับการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์

6. โดยหลักการ ศาลจะตั้งเพียงคนเดียว เพื่อสะดวกต่อการใช้สิทธิ เว้นมีเหตุจำเป็นจึงจะตั้งหลายคนได้

 

 

อัตราค่าบริการว่าความคดี ร้องขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำร้องต่อศาล / คััดค้านคำร้อง

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท  




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.