คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
ของหมั้น
การหมั้นตามกฎหมายไทย ไม่มีแบบแผน หรือขั้นตอนตามกฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติอย่างชัดเจน เป็นเพียงพิธีตามประเพณี
แต่กฎหมายกำหนด ไว้ดังนี้
1. ชายและหญิง อายุ 17 ปีขึ้นไป ถ้าอายุ 17 - 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองก่อน
2. ชายต้องให้ของหมั้นแก่หญิง เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง ที่ดิน รถยนต์ พันธบัตร ใบหุ้น เป็นต้น และของหมั้นนั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันทีที่หมั้นกัน และตกเป็นส่วนตัวของหญิงเมื่อแต่งงานแล้ว
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย หากให้ทรัพย์สินกันโดยที่ชายหญิงไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนสมรส ก็ไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามความหมายของกฎหมาย ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2535
โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2538
การที่หญิงหมั้นกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายและเมื่อแต่งงานตามประเพณีแล้วหญิงชวนชายไปจดทะเบียนสมรสหลายครั้งหญิงย่อมต้องการอยู่กินกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายการที่บิดามารดาและพี่ของชายนั้นไล่หญิงออกจากบ้านหลังจากนั้นชายก็มิได้กระทำการใดเพื่อให้หญิงกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาชายนั้นจึงผิดสัญญาหมั้น หญิงและชายต่างมีฐานะดีในการจัดงานเลี้ยงแต่งงานมีการเชิญแขกประมาณ 600 คน และเลี้ยงโต๊ะจีนการที่หญิงซื้อชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธีจำนวน 4 ชุดเป็นเงิน 28,000 บาท เป็นการใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสเรียกค่าทดแทนได้ หญิงซื้อผ้ารับไหว้เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายตามประเพณีมิใช่ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนได้
ประเด็น การหมั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีตามประเพณี ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543
พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
การเลิกสัญญาหมั้น มี 3 กรณี ดังนี้
1. ทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกกัน จะด้วยวาจาก็ได้ โดยฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่ฝ่ายชาย
2. ถึงแก่ความตาย กรณีหญิงฆ่าตัวตาย ชายก็เรียกของหมั้นและสินสอดคืนไม่ได้
3. บอกเลิก เนื่องจากอีกฝ่ายมีเหตุสำคัญอันไม่สมควรสมรสด้วย
วิธีการคืนของหมั้น
1. เงินตรา คืนเพียงส่วนที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน แต่หากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่น ต้องนำทรัพย์นั้นคืนให้ฝ่ายชาย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์
2. มิใช่เงินตรา คืนตามสภาพในขณะเรียกคืน อีกทั้งไม่ต้องรับผิดชอบกรณีสูญหายด้วย
อายุความเรียกคืนของหมั้น : 6 เดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1447/2
หลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การบอกเลิกสัญญาหมั้นของการคืนของหมั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1442 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย
มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย
มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลัง การหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
การเรียกค่าทดแทนในกรณีผิดสัญญาหมั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมด หรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับหรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้
การเรียกค่าจากบุคคลอื่นที่มาร่วมประเวณีกับคู่หมั้น หรือที่เรียกกันว่า "เป็นชู้เหนือขันหมาก"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตาม มาตรา 1442 หรือ มาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. กรณีชายหญิงสมัครใจอยู่ด้วยกัน โดยไม่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรส จะอ้างว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
2. พฤติการณ์ที่ถือว่าผิดสัญญาหมั้น เช่น ชวนไปจดทะเบียนแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ไป มีพฤติกรรมชั่วร้าย เที่ยวเตร่ เล่นการพนัน ติดยา ติดคุก ไร้สมรรถภาพทางเพศ พฤติกรรมชู้สาว ไปร่วมประเวณีกับคนอื่น ทอดทิ้งอีกฝ่ายไปอยู่ที่ไหน หมิ่นประมาท เป็นโรคเอดส์ อัมพาต หรือ เป็นบ้า เป็นต้น
อัตราค่าบริการว่าความ คดีของหมั้น
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี ของหมั้น |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท