คดีแรงงาน
Contact Us
Notice
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2524
ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตัดผ้าใบ แล้วไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งกลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1)(2) จึงเป็นความผิดทางวินัยดังระบุไว้ตามข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2523
การที่โจทก์แก้ไขใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องยื่นต่อจำเลยตามระเบียบ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ลาป่วย โดยเพิ่มวันที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวขึ้นอีก1 วัน และได้ยื่นใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขแล้วต่อจำเลยนั้น เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ตอนท้าย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้
2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2530
ผู้คัดค้านเป็นหัวหน้าแผนกขายส่วนกลาง ยอมให้ผู้ถอนหรือผู้เบิกรับแบตเตอรี่ไปก่อน ไม่มีใบถอนทันทีโดยจะมีการจัดส่งใบถอนหรือใบรับในภายหลังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้ร้องเกี่ยวกับการถอนหรือเบิกแบตเตอรี่ แม้จะมีการปฏิบัติดังกล่าวมานานก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องได้ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ร้องเสียหายเป็นเงินประมาณสี่แสนบาท และตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง การประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานเป็นเหตุให้องค์การ (ผู้ร้อง) เสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนี้ผู้ร้องจึงมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้.
3 ฝ่าผืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งที่ถือว่าเป็น กรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2523
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 68ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จะต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและต้องมีรายการต่าง ๆ ตามที่ข้อ 68 กำหนดไว้ซึ่งข้อ 68(6) มีรายการเรื่องวินัยและโทษทางวินัยด้วยฉะนั้น นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าการเล่นการพนันในบริเวณบริษัทเป็นความผิดสถานหนักมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยได้ ส่วนการจ่ายค่าชดเชย ต้องบังคับตามข้อ 47(3)ของประกาศกระทรวงมหาดไทย ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
การเล่นการพนันในบริเวณบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติงานหรือนอกเวลาก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมทำลายความสามัคคีในระหว่างหมู่คณะ ทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง
4 ฝ่าผืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งที่ถือว่าเป็น กรณีที่ไม่ร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2523
จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีอำนาจวางข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเล่นแชร์ได้ แต่การเล่นแชร์เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งใช้บังคับได้ ไม่มีกฎหมายห้ามการเล่นแชร์ การเล่นแชร์ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรง
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เริ่มทำงานในวันแรก ดังนั้นการนับระยะเวลาทำงานของโจทก์จึงต้องนับวันแรกแห่งระยะเวลาอันเป็นวันเริ่มทำการงานรวมคำนวณเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158
แม้จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 บัญญัติถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างก็มิได้ซ้ำหรือขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา582 ซึ่งบัญญัติถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง มาตราดังกล่าวจึงยังใช้บังคับในกรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้วด้วย
5 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีสาเหตุอันสมควร
กรณีมีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2529
การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) หมายถึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน มิใช่หมายถึงการละทิ้งหน้าที่นั้นกระทำไปโดยไม่สมควรเพราะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ผู้คัดค้านลากิจกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะมารดาป่วยหนัก ครบกำหนดลากิจแล้วอาการของมารดาของผู้คัดค้านไม่ทุเลาลง ต้องเข้ารักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลตามลำดับ ผู้คัดค้านได้โทรเลขถึงเพื่อนร่วมงานขอให้ลาต่อแทนดังนี้ การละทิ้งหน้าที่ของผู้คัดค้านมีเหตุอันสมควร กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 47(4) ผู้ร้องจะขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่ได้
6 ไม่มีเหตุอันสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2525
โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีสืบเนื่องมาจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งกำหนดว่า ลูกจ้างจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โจทก์ลาหยุดพักผ่อนแล้วไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4)
กรณี นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา หรือ ค่าชดเชย ภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
หากการไม่จ่ายเงินดังกล่าว เป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร
นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ
และมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณี สัญญาจ้างสิ้นสุดตามกำหนดเวลา : นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
กรณี การต่อสัญญา
นายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างต่อสัญญากับนายจ้างและทำงานกับนายจ้างต่อไป ลูกจ้างไม่ประสงค์ทำงานต่อไป ลูกจ้างจะอ้างผลของสัญญาจ้างที่สิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลา เรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ เพราะถือไม่ได้ว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8002/2549
ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัท ก. ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัท ก. ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย จำเลยมิได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด
หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ