Company Logo

Contact Us

Notice

การเรียกหลักประกันเข้างาน

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคสอง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างเว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

    ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

 

ลักษณะหรือสภาพของงานที่เรียกหรือรับหลักประกันได้

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ข้อ 4 กำหนดให้ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างอาจเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานได้ มีดังนี้

(1) งานสมุห์บัญชี

(2) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

(3) งานควบคุมหือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก

(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2544

    หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายยังมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับ ดังนั้นเมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบในสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์สูญหายไป แต่โจทก์แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ แม้จะให้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปก็ไม่ทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยจึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้

    ระเบียบของจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ข้อ 25 กำหนดให้เงินสะสมของพนักงานหรือลูกจ้างรวมทั้งดอกเบี้ยเป็นประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ร้านสหกรณ์โดยการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของพนักงานหรือลูกจ้างนั้น ๆ แต่โจทก์เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ใช่งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 4 จำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากโจทก์ เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้เป็นรายเดือนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 10

 

คำถาม : นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันการทำงานให้กับลูกจ้าง เมื่อใด ?

ตอบ ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นนายจ้างมีความผิดต้องเสียดอกเบี้ย หรือเงินเพิ่มอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10

 

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550

    จำเลยหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยมีประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานแก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก

 

    เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.