Company Logo

Contact Us

Notice

วันหยุด
1. วันหยุดประจำสัปดาห์
    นายจ้างต้องจัดให้หยุด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับลูกจ้างรายวันไม่ได้รับค่าจ้าง 
    งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร นายจ้างลูกจ้างอาจจะตกลงสะสมวันหยุดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์นั้น ตามมาตรา 28
2. วันหยุดตามประเพณี
    นายจ้างต้องประกาศกำหนดวันหยุด อย่างน้อยปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว โดยได้รับค่าจ้าง 
    ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างจะได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป
    กรณีนายจ้างไม่อาจหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลักษณะหรือสภาพงานตามที่กฎหมายกำหนด คือ งานในโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น นายจ้างลูกจ้างอาจตกลงได้ว่า จะให้ลูกจ้างหยุดวันอื่นชดเชยหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แทนก็ได้ ตามมาตรา 29 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 4
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
    กรณีลูกจ้างทำงานมาแล้วครบ 1 ปี ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อน ได้ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวหรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน
    หรืออาจตกลงล่วงหน้าให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดรวมกันกับวันหยุดในปีต่อๆไปได้ ตามมาตรา 30
 
กรณีไม่กำหนดวันหยุด
    นายจ้างมีความผิดและมีโทษทางอาญา ตามมาตรา 146 และต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 64
 
หลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวันนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้

    ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดารหรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน

มาตรา 29 ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

    ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น

    ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป

    ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

มาตรา 30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

    ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้

    นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้

    สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

มาตรา 64 ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด

มาตรา 146 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 45 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 65มาตรา 66 มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มาตรา 77 มาตรา 99 มาตรา 105 วรรคสอง มาตรา 108 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 117 หรือไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 120 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 139 (2) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.