Company Logo

Contact Us

Notice

ข้อ 1 คำถาม : สัญญาจ้างทดลองงาน หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 120 วันขึ้นไป กรณีไม่ผ่านการทดลองงานก็ดี หรือครบกำหนดเวลาตามสัญญา หากนายจ้างต้องการเลิกจ้าง จะต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

ตอบ ต้องจ่าย ทั้งค่าชดเชย และ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 มาตรา 17

 

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2544

   การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างพ้นจากการเป็นพนักงาน แม้จะเป็นเพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

 

ข้อ 2 คำถาม : ลูกจ้างตายอันเนื่องจากการทำงาน ทายาทมีสิทธิเรียกร้องกับนายจ้างอย่างไรบ้าง?

ตอบ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ทายาท หรือผู้จัดการศพของลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงิน ดังนี้

1) ค่าทำศพ เป็นเงินจำนวน 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด (ต่อวัน ตามแต่ละพื้นที่)

2) เงินทดแทน เป็นเงินจำนวนร้อยละ 60 ของค่าจ้างต่อเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี

3) เงินอื่นๆ หากปรากฏว่าความตายนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายจ้าง

 

หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาว่า เป็นการตายเนื่องจากการทำงานหรือไม่?

1) ตายเนื่องจากการทำงานในหน้าที่ตามสัญญาจ้าง

2) ตายเนื่องจากทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง

3) ตายเนื่องจากการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับนายจ้าง

 

ข้อ 3 คำถาม : นายจ้างเลิกจ้าง เพราะอ้างว่ากิจการขาดทุน เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่?

ตอบ ไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้

 

 

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2547

   จำเลยเป็นบริษัทจำกัดที่ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว บริษัทที่ถือหุ้นของจำเลยจะประกอบกิจการขาดทุนก็ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย แม้ผลประกอบการของจำเลยจะมีกำไรสุทธิน้อยลง แต่ก็ยังมีกำไรอยู่ ไม่ปรากฏว่างานของจำเลยลดน้อยลงมากหรือประสบการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะจำเลยให้อยู่รอด จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

 

ข้อ 4 คำถาม : นายจ้างไม่ยอมให้เข้าทำงาน ยึดอุปกรณ์การทำงาน และ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถือเป็นการเลิกจ้างแล้วหรือไม่?

ตอบ เป็นการเลิกจ้างแล้ว

 

ข้อ 5 คำถาม : นายจ้างบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วหรือไม่

ตอบ เป็นว่าเลิกจ้างแล้ว ตามกฎหมายแล้ว การเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แค่เลิกจ้างด้วยวาจา หรือ เกิดพฤติการณ์ที่ว่า นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เมื่อเลิกจ้างแล้ว จะเปลี่ยนใจหรือถอนคืนไม่ได้

 

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5933/2550

   การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างเป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อมาตรา 118 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่าการเลิกจ้างต้องกระทำเป็นหนังสือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติให้นายจ้างระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างนั้นเป็นการบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่ทำเป็นหนังสือ ไม่ได้ห้ามการบอกเลิกสัญาจ้างด้วยวาจา การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงไม่ขัดต่อมาตรา 17 วรรคสาม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2548

   โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งกรรมการรองผู้อำนวยการ วันที่ 21 กันยายน 2545 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกันไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ให้โจทก์ลาออกจะให้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน และให้เวลาโจทก์ปรึกษาครอบครัว 3 วัน ในวันดังกล่าวจำเลยขอรถประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืนและในช่วง 3 วันดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องมาทำงาน หลังจากครบกำหนด 3 วันแล้วโจทก์ไม่ได้เข้าไปทำงานให้จำเลยอีก จำเลยจึงคัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 การกระทำของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยอีก มิได้ให้โอกาสโจทก์ดังที่กล่าวข้างต้น พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545

 

ข้อ 6 คำถาม : หากนายจ้างเลิกจ้าง ต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกจ้างทุกครั้ง หรือไม่?

ตอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย กำหนดว่า “การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้”

รวมทั้งจะอ้างในคำให้การหรือในอุทธรณ์ ก็ไม่ได้

สำหรับการแจ้งเหตุเลิกจ้างไม่ตรงกับความจริงนั้น ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุผลใดแล้ว เวลาขึ้นศาลก็ต้องใช้เหตุผลเดิมในการต่อสู้คดีในศาลจะเปลี่ยน หรือ เพิ่มเหตุเลิกจ้างในภายหลังไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 7 คำถาม : เลิกจ้าง เพราะลูกจ้างเกษียณอายุ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างอยู่หรือไม่?

ตอบ ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะการเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างเกษียณอายุการทำงาน แม้จะเป็นไปตามข้อบังคับหรือเป็นไปตามสัญญาจ้าง แต่ไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่นายจ้างจะอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2548

   ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในหัวข้อเรื่องการเกษียณอายุนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกันจะเห็นได้ว่า โจทก์แยกลูกจ้างเป็น 2 ประเภท โดยลูกจ้างประเภทที่ 2 โจทก์จะให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งการจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนลูกจ้างประเภทที่ 1 แม้อายุครบ 60 ปีแล้ว การจะให้ลูกจ้างเกษียณอายุไปหรือไม่มิได้ขึ้นอยู่กับโจทก์ แต่ขึ้นอยู่กับลูกจ้าง ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างไม่ว่าลูกจ้างประเภทที่ 1 หรือลูกจ้างประเภทที่ 2 เกษียณอายุ เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง และแม้จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างประเภทที่ 1 ใช้สิทธิเกษียณอายุตนเองโดยโจทก์มอบสิทธิดังกล่าวให้ลูกจ้างประเภทที่ 1 เป็นผู้พิจารณาเองก็ยังเป็นเรื่องที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องลูกจ้างขอลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ การที่ ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างประเภทที่ 1 ซึ่งมีอายุ 63 ปีแล้ว ไม่มีความประสงค์จะทำงานให้โจทก์อีกต่อไป ขอใช้สิทธิเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์เลิกจ้าง ส. เมื่อ ส. ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ส. ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดจำนวน 545,000 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำถาม เล่นFacebook Chat LINE ในเวลาทำงาน นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยได้หรือไม่?

ตอบ ได้ ถือเป็นความผิดร้ายแรง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบังเวลาการทำงานของนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1)

คำถาม นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถือเป็นการเลิกจ้างแล้ว หรือไม่?

ตอบ กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถือเป็นการเลิกจ้างแล้ว

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2545

   การที่นายจ้างสั่งด้วยวาจาพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาและไม่ได้มีการจ่ายค่าจ้างให้ เป็นกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง แพ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่สั่งพักงาน

 

 




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.