Company Logo

Contact Us

Notice

1 ขั้นตอนการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อรับคำร้องแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง ซึ่งโดยปกติแล้วหากพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับเงินต่างๆ ตามที่ยื่นคำร้องเข้ามา พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างนำเงินมาวางภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

(ข) เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งประการใดแล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด หากลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ลูกจ้างสามารถถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วนำคดีไปสู่ศาลโดยการฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางต่อไปได้ ในส่วนของนายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างสามารถดำเนินการฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางได้ แต่นายจ้างจะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งด้วย จึงจะฟ้องคดีได้ ทั้งนี้นายจ้างและลูกจ้างต้องดำเนินการดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง

(ค) หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยการนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาตามข้อ (ข) คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะถึงที่สุด

(ง) เมื่อคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุด และนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาฐานขัดคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อนายจ้างได้ และการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานยังต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 146 อีกด้วย

(จ) ตามข้อ (ง) ในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานตรวจแรงงาน ในกรณีที่นายจ้างเป็นบริษัท พนักงานตรวจแรงงานจะฟ้องบริษัทเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องกรรมการฯ เป็นจำเลยที่ 2 หากท้ายสุดนายจ้างไม่สามารถนำเงินมาวางตามที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งโดยไม่สามารถแถลงถึงเหตุผลให้ศาลรับฟังได้ ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษทางอาญาตาม ป.อาญามาตรา 368 ในความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ (ความผิดลหุโทษ) โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำคุกด้วย โทษจำคุกนี้กรรมการฯ จะต้องเข้ามาเป็นผู้รับโทษ เนื่องจากบริษัทเป็น นิติบุคคลจึงไม่อาจรับโทษจำคุกทางอาญาได้

(ฉ) ในส่วนของลูกจ้างเมื่อนายจ้างได้รับคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงานให้นำเงินมาวางแล้ว แต่นายจ้างไม่ปฏิบัติจนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดแล้ว ลูกจ้างสามารถดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้

 

2 การใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาล ลูกจ้างสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

1) ลูกจ้างสามารถยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางที่มูลคดีเกิด (สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานเป็นที่ที่มูลคดีเกิด) 

2) ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานที่โจทก์ (ลูกจ้าง) หรือ จำเลย (นายจ้าง) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ซึ่งกรณีนี้โจทก์จะต้องแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลแรงงานนั้นๆ จะเป็นการสะดวก (โดยทำเป็นคำร้องยื่นเข้ามาพร้อมกับคำฟ้อง)

3) ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด โดยศาลจังหวัดจะส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ไปยังศาลแรงงานที่มีเขตอำนาจ เมื่อศาลแรงงานภาคสั่งรับคำฟ้องแล้ว จะออกนั่งพิจารณาคดียังศาลจังหวัดที่โจทก์ (ลูกจ้าง) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
ค่าธรรมเนียม ศาลแรงงานไม่มี กรณีเดียวกันนายจ้างฟ้องลูกจ้าง ก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.