Company Logo

Contact Us

Notice

คดีจำนองที่ดิน

    จำนอง คือ การที่ "ผู้จำนอง" เอาทรัพย์สินของตนตราไว้แก่ "ผู้รับจำนอง" เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง

    ทรัพย์ที่นิยมจำนอง คือ ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม ห้องชุด

 

หลักเกณฑ์การจำนอง

1. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

2. สัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 714 มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ

3. โดยการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ดังนี้

» ที่ดิน มีโฉนด จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

» น.ส. 3 จดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

» เฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่รวมที่ดิน จดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ

» เรือระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป จดทะเบียน ณ กรมเจ้าท่า

» เครื่องจักร จดทะเบียน ณ กระทรวงอุตสาหกรรม

 

ผลการทำสัญญาจำนอง

1. ทำให้ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ

2. ทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสามารถนำไปจำนองกับผู้รับจำนองได้หลายคน โดยเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เรียงตามลำดับวันที่จดทะเบียน

3. สิทธิจำนองย่อมมีผลไปถึงทรัพย์สินที่จำนองทุกสิ่ง แต่ไม่รวมดอกผลที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น

4. ถ้ามีการจำนองกันหลายคน โดยมิได้ระบุลำดับการจำนองไว้ ผู้จำนองคนหนึ่งคนใดได้ชำระหนี้ไปแล้ว ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้จำนองรายอื่น

5. เมื่อมีการโอนทรัพย์สินที่จำนองไปให้ผู้อื่น สิทธิในการจำนองนั้น ย่อมโอนติดไปกับทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

6. ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอากับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้

 

การหลุดพ้นจากจำนอง

1. ถ้าผู้รับจำนองยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ โดยทำเป็นหนังสือ และผู้จำนองไม่ยินยอม ผู้จำนองหลุดพ้น
2. ผู้จำนองขอชำระหนี้ ผู้รับจำนองไม่ยอมรับชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้จำนองหลุดพ้น

 

การระงับไปของสัญญาจำนอง

1. หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นซึ่งมิใช่เหตุอายุความ
2. เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
3. เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
4. เมื่อไถ่ถอนจำนอง
5. เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนอง
6. เมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด

 

เงื่อนไข / วิธีการบังคับจำนอง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728

1.1. กรณีลูกหนี้นำทรัพย์ของตนมาจำนอง ตามวรรค 1 : ผู้ร้บจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน

1.1. กรณีบุคคลอื่นนำทรัพย์มาจำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ ตามวรรค 2 : เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวแก่ผู้จำนองภายใน 15 วันนับแต่วันส่งหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้  หากเจ้าหนี้ไม่ส่งภายใน 15 วัน ผู้รับจำนองหลุดพ้นความรับผิด ดอกเบี้ย ค่าสินไหมซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ค่าภาระติดพัน บรรดาเกิดพ้นกำหนด 15 วัน

เมื่อครบกำหนดตามคำบอกกล่าว(ไม่น้อยกว่า 60 วัน) ลูกหนี้ไม่ชำระเงิน ผู้รับจำนองในฐานะเจ้าหนี้ จะต้องฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ที่จำนองนั้น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ของตน

 

วิธีที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 729 เป็นการขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์จำนองนั้น หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตน หากเข้าเงื่อนไข ดังนี้

2.1. ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

2.2. ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ

 

โดยทั่วไปการฟ้องบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะมีสัญญา 2 สัญญา คือ สัญญากู้(ประธาน) และสัญญาจำนอง(อุปกรณ์) เจ้าหนี้สามารถฟ้องตามสัญญาเงินกู้ หรือสัญญาจำนองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองสัญญาพร้อมกันก็ได้ 

» เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จึงสามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ โดยฟ้องเรียกเฉพาะสัญญากู้ยืมเงินก็ได้ ซึ่งหากฟ้องเฉพาะสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อชนะคดีแล้ว ก็สามารถบังคับยึดทรัพย์สินทุกประเภทรวมทั้งทรัพย์ที่จำนองได้จนกว่าจะครบจำนวนหนี้

» แต่ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองมาพร้อมกัน หากไม่มีข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ไว้ และเมื่อนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกไม่ได้

 

อายุความคดีจำนอง : ไม่มี

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น การบังคับจำนองได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง จะยึดทรัพย์สินอื่นเพิ่มเติมได้หรือไม่ 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2525/2557

    ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินจำนวน 8,000,000 บาท จากโจทก์ โดยทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฏีกาของโจทก์ว่า หากนำที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้หรือไม่ ที่โจทก์ฏีกาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยอย่างลูกหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนองแต่เพียงอย่างเดียว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบนัั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานมาด้วย แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่ชำระเงินให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอากับที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองดังกล่าวด้วย กรณีจึงเป็นการฟ้องบังคับจำนอง ซึ่งต้องอยู่ในบังคับของป.พ.พ.733 ซึ่งบัญญัติว่า"ถ้าเอาทรัพย์ซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบในเงินนั้น" ซึ่งลูกหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมหมายถึงลูกหนี้ชั้นต้นในหนี้ประธาน เมื่อสัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยลูกหนี้ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือไปจากทรัพย์จำนองได้

 

ประเด็น เจ้าของทรัพย์หลายคน ไม่ยินยอมให้จำนองในส่วนของตน จึงไม่ผูกพันเจ้าของรายอื่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5423/2553

    ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยจำนองทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลยเท่านั้นเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ตัวทรัพย์ทั้งหมดนั้นจำเลยจะก่อภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของรวมคนอื่นยินยอมให้จำเลยทำนิติกรรมจำนอง การจำนองดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์ทั้งหมด การที่จำเลยเจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนต่อโจทก์จึงเป็นการจำนองเฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่กระทบถึงส่วนแห่งสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น

 

ประเด็น กรณีหนี้ประธานขาดอายุความ แม้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ แต่เมื่อได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็จะบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นอีกไม่ได้ แม้มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ผู้จำนองยึดทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2551

    เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 เมื่อ จ. ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จ. ได้แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และมาตรา 192/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ไม่อาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกได้ด้วย แม้สัญญาจำนองจะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีกต่อไป

 

ประเด็น การบอกกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2523

   ทนายโจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลยทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับตามตำบลที่อยู่ที่เป็นบ้านของจำเลยซึ่งระบุไว้ในสัญญา จำนอง และสามีจำเลยได้ลงชื่อรับไว้แล้วนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือ บอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงจำเลยโดยชอบแล้ว

 

ประเด็น บังคับจำนองแม้หนี้ประกันขาดอายุความก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2544

   โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระคลาดเคลื่อนไป แต่จำเลยก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งจำนวนเงินดังกล่าวได้ จึงไม่เป็นเหตุให้การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ

   จำเลยจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของบุคคลอื่น การที่หนี้ดังกล่าวขาดอายุความ และจำเลยสละประโยชน์แห่งอายุความเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระก่อนฟ้องย้อนหลังไปมีกำหนด 5 ปี

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

    ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

    ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว

มาตรา 729 ในการบังคับจำนองตามมาตรา 728 ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้

(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

(2) ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินอันค้างชำระ

มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

มาตรา 735 เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้

มาตรา 744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ

(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ

(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น

(4) เมื่อถอนจำนอง

(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1

(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด

มาตรา 745 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

 

กฎหมายเกี่ยวกับจำนอง(แก้ไขใหม่) 

1. (เพิ่มมาตรา 727/1) การจำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่น หากมีการบังคับจำนอง หรือเอาทรัพย์จำนองหลุดแล้วหนี้ประธานยังคงค้างชำระ ผู้รับจำนองหลุดพ้นความรับผิด และหากตกลงแตกต่างจากมาตรานี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
    แต่ในส่วนของการทำข้อตกลงยกเว้น มาตรา 733 กรณีนำทรัพย์มาจำนองหนี้ของตนเอง หากบังคับจำนองแล้วยังคงค้างชำระ ลูกหนี้ยังคงรับผิด ยังคงยึดถือใช้ได้ต่อไป

2. (แก้ไขมาตรา 728) การส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง ต้องกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน และถ้าเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลภายนอก ผู้รับจำนองต้องแจ้งไปยังบุคคลดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้ทราบ หากฝ่าฝืนบุคคลภายนอกที่เป็นผู้จำนองหลุดพ้นในส่วนของดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆในการทวงถามให้ชำระหนี้ **ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โดยผลของมาตรา 714/1

3. (แก้ไขมาตรา 729) หลักเกณฑ์ในการเอาทรัพย์จำนองหลุดนั้น ลูกหนี้ต้องขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้ว 5 ปี และราคาทรัพย์ที่จำนองมีราคาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ **ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โดยผลของมาตรา 714/1

4. (เพิ่มมาตรา 729/1) ให้สิทธิผู้จำนองมีหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้เอาทรัพย์ของตนเองที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล โดยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับหนังสือดังกล่าว ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาด มิเช่นนั้น ผู้จำนองหลุดพ้นในเรื่องดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 1 ปีไปแล้ว

5. (แก้ไขมาตรา 735) การบังคับจำนองแก่ผู้ที่รับโอนทรัพย์ที่จำนอง ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน **ตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โดยผลของมาตรา 714/1

6. (แก้ไขมาตรา 737) ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองจะไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนองเมื่อใดก็ได้ แต่หากได้รับการบอกกล่าวตามข้อ 4. มาตรา735 ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองต้องไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนองภายใน 60 วัน

7. (แก้ไขมาตรา 744) วางหลักให้เหตุที่จำนองระงับมีเรื่องใดบ้าง มีความชัดเจนมากขึ้น

8. (เพิ่มมาตรา 714/1) ข้อตกลงใดแตกต่างไปจาก ข้อ 2. มาตรา728 ข้อ 3. มาตรา 729 และ ข้อ.4 มาตรา 735 กำหนดไว้ ความตกลงนั้นเป็นโมฆะ

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีที่ผู้จำนองตาย เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวแก่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกก่อนฟ้อง

2. กรณีผู้จำนองตาย ไม่ฟ้องภายใน 1 ปี ขาดอายุความรดก ก็ยังบังคับจำนองได้

3. แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองได้

4. ถ้าเอาทรัพย์สินจำนองหลุด / เอาออกขายทอดตลาด ได้ราคาเท่าใด ลูกหนี้ / ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ผิดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

5. การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์ที่จำนองซ้อนให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันเวลาผู้รับจำนองก่อนจะได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

6. การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการจำนอง ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น มิฉะนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้

7. การทำหนังสือบอกกล่าวของทนายความ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจแนบไปด้วยเสมอ กำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน

8. ถ้าไม่มีการบอกกล่าวก่อน เจ้าหนี้ผู้รับจำนองไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง

9. การเรียกดอกเบี้ยสัญญาจำนอง ให้ถือตามหนี้กู้ยืมเงินไม่เกินร้อยะ 15 ต่อปี เว้นกู้ยืมเงินธนาคารอาจสูงกว่า กรณีไม่ได้มีการระบุไว้กฎหมายให้คิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

10. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองของสำนักงานที่ดิน เสีย 1% ของจำนวนเงิน

 

                     

                             อัตราค่าบริการว่าความ คดีจำนองที่ดิน กู้ยืมเงิน 

                            

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

 

 

ยื่นคำฟ้องบังคับจำนอง กู้ยืมเงิน

 

 -x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.