Company Logo

Contact Us

Notice

คดีขายฝาก

    สัญญาขายฝาก คือ สัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปเป็นของผู้ซื้อฝากทันที แต่มีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในเวลาที่กำหนด

 

กำหนดเวลาสัญญาขายฝาก

» อสังหาริมทรัพย์ มีกำหนด 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

» สังหาริมทรัพย์ มีกำหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

    สัญญาขายฝากจะต้องมีกำหนดระยะเวลาว่าจะไถ่คืนที่แน่นอน แต่จะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน หรือกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็น 10 ปี และ 3 ปี ตามประเภททรัพย์

 

แบบของสัญญา : ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ดิน มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

 

อายุความ : 10 ปีตาม ป.พ.พ. 193/30

 

ดอกเบี้ย : ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

 

การขยายกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน : จะทำสัญญาขยายเวลาไถ่ถอนกันกี่ครั้งก็ได้ แต่รวมกันแล้ว จะต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาขายฝาก โดยจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น มิฉะนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตมิได้

จำนวนสินไถ่

ถ้าไม่ได้กำหนด -- ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝาก

ถ้ากำหนดต้องไม่เกินราคาขายฝาก + ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

 

หากครบกำหนดผู้ซื้อฝากไม่ยอมรับ : ผู้ขายมีสิทธิวางสินไถ่ ณ สำนักงานวางทรัพย์ โดยกรรมสิทธิ์จะโอนกลับมาทันทีที่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์

 

บุคคลที่มีสิทธิไถ่ : ผู้ขายเดิม ทายาท ผู้โอนสิทธิหรือบุคคลในสัญญา

บุคคลที่ต้องไถ่ถอน : ผู้ซื้อเดิม ทายาท หรือผู้รับโอนทรัพย์สิน

 

สินไถ่ คือ จำนวนเงินที่ผู้ขายฝากต้องนำมาชำระแก่ผู้รับซื้อฝาก

1 จะเป็นต้องเงินเสมอ

2 หากไม่ได้กำหนดกันไว้กฎหมายให้ไถ่เท่ากับราคาขายฝาก

3 จะกำหนดให้สูงกว่าราคาที่ขายฝากที่แท้จริง เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ หากเกินให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริง รวมร้อยละ 15 ต่อปี

ตัวอย่าง ขายฝากราคา 1,000,000 บาท เรียกค่าตอบแทน อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือ 120 ต่อปี กำหนดไถ่ถอน 1 ปี คิดค่าตอบแทน 1,200,000 บาท รวมทั้งสิ้น 2,200,000 บาท ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด

กฎหมายกำหนด ดังนี้ ต้นเงิน 1,000,000 บาท รวมค่าตอบแทน อัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นสินไถ่ 1,150,000 บาท ไม่ใช่ 2,200,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา

 

การคำนวณระยะเวลาครบกำหนด : ให้นับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรก เช่น ถ้าทำสัญญาขายฝากมีกำหนด 1 ปี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ต้องครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563

 

กรณีละเมิด : เกินกำหนดระยะเวลาไถ่ทรัพย์แล้ว เจ้าของเดิมหรือผู้ขายฝาก ไม่ยอมย้ายออกต้องดำเนินการฟ้องขับไล่ออกไป พร้อมเรียกค่าเสียหาย

เพราะกรรมสิทธิ์ย่อมต้องเป็นสิทธิของผู้รับซื้อฝากโดยเด็ดขาดแล้ว ดังนั้น การอยู่ของเจ้าของเดิมหรือเป็นผู้ขายฝาก จึงเป็นการอาศัยอยู่โดยการละเมิด เป็นการโต้แย้งสิทธิ และเรียกค่าเสียหายต่อไปได้

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ต้องเรียกทรัพย์คืนภายใน 1 ปี ตามหลักลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2524

    โจทก์เพิ่งทราบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่ขายฝาก เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกเงินคืนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2552

    เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้น เงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน

 

ประเด็น ขายฝากแต่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับขายฝากอ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2538

   สัญญาขายฝากที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะจำเลยจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากไม่ได้เพราะการขายฝากนั้นไม่ถือว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝากการที่จำเลยครอบครองที่พิพาทก็โดยอาศัยอำนาจของโจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองที่พิพาทให้จำเลยแล้วส่วนข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะนำเงินมาไถ่ที่พิพาทคืนภายใน15วันนับแต่วันทำสัญญาหรือภายในเดือนกุมภาพันธ์2530นอกจากตกลงกันได้เป็นอย่างอื่นเมื่อไม่ได้ตกลงว่าหากโจทก์ไม่นำเงินไปชำระหนี้ภายในกำหนดให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองที่พิพาทให้จำเลยหรือให้ที่พิพาทตกเป็นของจำเลยแม้โจทก์ไม่ได้นำเงินไปไถ่ที่พิพาทคืนตามกำหนดก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองที่พิพาทให้จำเลยแล้วทั้งถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่พิพาทเพื่อตนเองให้โจทก์ทราบแล้วโจทก์จึงไม่ได้ถูกจำเลยแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1375วรรคสอง

 

ประเด็น ขยายระยะเวลาขายฝากที่ดิน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และเรียกดอกเบี้ยเกิน 15 ต่อปี ให้ไถ่คืนในราคาขายฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559

   บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว

   น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีจึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

 

ประเด็น วางเงินค่าสินไถ่ไม่ครบถ้วน ถือไม่ได้ว่าเป็นการไถ่ ผู้ซื้อฝากมีสิทธิบอกปัด

คำพิพากษาฎีกาที่ 7519/2560

   โจทก์จำเลยตกลงขายฝากที่ดินพิพาทในราคาขายฝากและกำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 4,200,000 บาท แม้โจทก์จะนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อเป็นค่าไถ่ที่ดินพิพาทที่ขายฝากในราคา 2,030,000 บาท ซึ่งไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ตามสัญญา ถือเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ไม่ถูกต้องจำเลยมีสิทธิบอกปัดไม่รับเงินสินไถ่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพาทที่ขายฝากคืนให้แก่โจทก์

 

ประเด็น ผู้ซื้อฝากรับชำระเงินหลังครบกำหนดไถ่ถอน ไม่ถือเป็นการไถ่ถอน ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ฐานลาภมิควรได้

คำพิพากษาฎีกาที่14959/2556

    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 วรรคสอง บัญญัติไว้มีใจความว่า การขยายกำหนดเวลาไถ่นั้น อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ เมื่อพิจารณา จากหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินดัง กล่าวมีกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันทำสัญญา คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ซึ่งหมายถึงโจทก์ต้องชำระเงินค่าสินไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการขายกำหนดเวลาไถ่โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับไถ่ไว้ ดังนั้น การชำระเงิน 20,000 บาท และ 200,000 บาท ในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 มกราคม 2547 ตามลำดับ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระเงินค่าสินไถ่ที่เกิดจากการขยายกำหนดเวลาไถ่ตามบทบัญญัติแแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยจะรับชำระเงินทั้งสอง จำนวนดังกล่าวไว้จากโจทก์ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิไถ่ที่ดินขายฝากคืน จากจำเลยได้

 

ประเด็น ที่ดินพร้อมบ้าน แต่ทำสัญญาขายฝากเฉพาะที่ดิน ผู้ซื้อฝากได้กรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดิน ส่วนบ้านต้องรื้อถอนออกไป ไม่ถือเป็นส่วนควบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559

    ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง

   คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์

 

ประเด็น ระยะเวลาไถ่ถอน ผู้ขายฝากมีสิทธิทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลอื่น ถือว่าบุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543

    จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมา จำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ที่ดินได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือ สัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

    ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 333 วรรคสาม

มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนด 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนด 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 496 กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา 494

   การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 333 การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้

    ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับเฉพาะการในเรื่องสำนักงานวางทรัพย์ เมื่อบุคคลผู้ชำระหนี้ร้องขอ ศาลจะต้องกำหนดสำนักงานวางทรัพย์ และตั้งแต่งผู้พิทักษ์ทรัพย์ที่วางนั้นขึ้น

    ผู้วางต้องบอกกล่าวให้เจ้าหนี้ทราบการที่ได้วางทรัพย์นั้นโดยพลัน

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 กรณีผู้รับซื้อฝากบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ขายฝากต้องไปขอทำบันทึก ณ สำนักงานที่ดิน และนำเงินสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี ในท้องที่ได้เลย

2 ผู้รับซื้อฝากควรตรวจสอบข้อมูลทรัพย์ และราคาประเมินของสำนักงานที่ดินและราคาตลาด ก่อนเข้าทำสัญญา

3 ก่อนวันครบกำหนด ผู้ขายฝากควรมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ซื้อฝากล่วงหน้า 30 วัน เพื่อกำหนดการนัดหมายไปสำนักงานที่ดิน

4 การทำสัญญาขายฝากสินสมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย มิฉะนั้นจะถูกฟ้องขอเพิกถอนได้

 

           

อัตราค่าบริการว่าความ คดีขายฝาก

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี ขายฝาก

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.