คดีที่ดิน
Contact Us
Notice
การขอรับชำระหนี้จำนอง ก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ภายหลังโจทก์ได้ยื่นฟ้อง และศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดี โจทก์ดำเนินการบังคับคดี ยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ หากทรัพย์สินนั้นติดจำนอง เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือแจ้งมายังผู้รับจำนอง เพื่อให้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาล โดยให้ศาลมีคำสั่งให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของจำเลย มาชำระหนี้จำนองของผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น
เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง
1. สำเนาโฉนดที่ดิน / หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด
2. สัญญาจำนอง
3. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน / หนังสือรับรองบริษัท
4. คำพิพากษา
5. รายการการยึดอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ป.พ.พ. มาตรา 287 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ได้แก่
(1) เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ลูกหนี้ตามคําพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมถึงลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง ผู้ทรงสิทธิเรียกร้อง หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นด้วย
(2) บุคคลผู้มีทรัพยสิทธิหรือได้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี
(3) บุคคลซึ่งได้ยื่นคําร้องขอตามมาตรา 323 มาตรา 324 มาตรา 326 และมาตรา 329 เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี
(4) บุคคลผู้เป็นเจ้าของรวมหรือบุคคลผู้มีบุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นตามมาตรา 322 เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี
(5) บุคคลอื่นใดซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุแห่งการดําเนินการบังคับคดีนั้น
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 324 บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว
(ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
(2) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่น นอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 340
(3) ในกรณีที่เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายหรือจำหน่าย บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นขอให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น
(4) ในกรณีอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) (2) และ (3) ผู้ทรงสิทธินั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้ตนได้รับส่วนแบ่งในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายหรือขอให้นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น แม้ไม่ได้ยื่นคำร้อง ก็ยังมีสิทธิบังคับจำนองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543
แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
ประเด็น มีสิทธิได้รับชำระหนี้ เฉพาะส่วนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3793/2550
ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้จำนองซึ่งถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ได้
ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่โจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของผู้คัดค้านจึงขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เห็นได้ว่าผู้ร้องตั้งเรื่องมาในคำร้องและระบุท้ายคำร้องชัดเจนว่าเป็นการขอใช้สิทธิตามมาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งสิทธิของผู้ร้องในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง
ประเด็น หนี้จำนองต้องถึงกำหนดชำระแล้วผู้รับจำนองจึงจะยื่นคำร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2542
ในวันที่จำเลยจดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทไว้แก่ผู้ร้อง ส.มีหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ แม้ ส.จะขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไป 12 เดือนก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องและ ส.ยังคงให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ทั้งปรากฏว่าผู้ร้องยังมิได้บอกเลิกสัญญาและยังให้บัญชีเดินสะพัดเดินต่อไป จึงเห็นได้ว่าคู่สัญญายังไม่ถือว่ามีการผิดนัด เมื่อหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่าง ส.กับผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 289 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2534
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ได้นำยึดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ผู้ร้องอยู่มาบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับชำระหนี้จำนอง ก่อนกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ 1 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ หนี้จำนองของผู้ร้องจึงยังมิใช่หนี้จำนองที่อาจบังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ดังนี้ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองหาได้ไม่ แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง (ผู้รับจำนอง)ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)
ประเด็น ผู้รับจำนองต้องยื่นคำร้องตามมาตรา 289 ก่อนมีการเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995/2535
การยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยมาชำระหนี้ของผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 วรรคสองนั้น ต้องยื่นก่อนเอาทรัพย์นั้นขายทอดตลาด ดังนั้นเมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นภายหลังจากที่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิขอให้เอาเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยมาชำระหนี้จำนองของผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7569/2549
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งวรรคสองได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอได้ก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอด เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนวันที่ประกาศขายทอดตลาดใหม่ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนด
ประเด็น การที่ผู้รับจำนองจะไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนขายทอดตลาด การบังคับคดีก็ไม่กระทบกระทั่งสิทธิของผู้จำนอง ถ้าได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นไปโดยปลอดจำนอง ผู้รับจำนองก็มีสิทธิรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543
แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
ประเด็น การใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 นี้ ให้ทำเป็นคำร้องขอโดยผู้รับจำนองไม่จำต้องส่งคำบอกกล่าวเพื่อบังคับจำนองก่อนแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551
ผู้รับจำนองมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 โดยหาจำต้องฟ้องร้องขอบังคับจำนองก่อนหรือต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่แล้วไม่เพราะกฎหมายมิได้มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าว และการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรง ผู้รับจำนองจึงไม่ต้องมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองย่อมอาศัยอำนาจแห่งการจำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในทรัพย์จำนองที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นยึดไว้แล้วได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล โดยเสียค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท
2. ทำสำเนาคำร้องและหมายนัดไต่สวนส่งให้แก่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดี
3. ยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี กรณีที่ส่งไปให้ศาลอื่นบังคับคดีแทน ก็จะยื่นต่อศาลที่บังคับคดีแทนไม่ได้
4. แม้ผู้รับจำนองจะไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ก่อนขายทอดตลาดตามมาตรา 298 นี้ ก็ไม่ทำให้จำนองระงับสิ้นไป เพราะการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองไม่ใช่เหตุทำให้การจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 744 การจำนองยังคงติดไปกับทรัพย์นั้น
อัตราค่าบริการว่าความคดียื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำร้องต่อศาล |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท