Company Logo

Contact Us

Notice

เหตุฟ้องหย่า

ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 กำหนดไว้รวม 12 เหตุ รายละเอียดดังนี้

1 สามีหรือภริยาประพฤตินอกใจ โดยไปร่วมประเวณีกับผู้อื่น

1.1 สามีเมียน้อย เป็นชู้กับภริยาผู้อื่น หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2536

   โจทก์นำหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านและมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาจำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1)

 

1.2 ภริยามีชู้หรือยกย่องชายอื่นฉันสามี

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกาที่ 391/2538

   การที่จำเลยทั้งสองพากันเข้าไปในโรงแรมโรสทาวน์ ซึ่งเป็นโรงแรมม่านรูด ในวันที่ 11 และวันที่ 28 ธันวาคม 2527 จะให้รับฟังเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากไปร่วมประเวณีกัน มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองควรพากันเข้าไปในสถานที่เช่นนั้นถึงสองครั้งสองคราว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้

 

2 สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว เป็นเหตุให้อีกฝ่ายได้รับความอับอายขายหน้า ถูกดูถูกเกลียดชัง หรือเสียหายเดือนร้อน

   การประพฤติชั่ว หมายถึง การฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณี เช่น ชายเป็นชู้กับชาย หญิงติดการพนัน ชายเที่ยวเตร่หญิงขายบริการ เป็นต้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547

    ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)

 

3 สามีหรือภริยาทำร้าย ทรมานร่างกายจิตใจ หรือหมิ่นประมาทเหยียดหยามอีกฝ่าย หรือบิดามารดา ปู่ย่าตายายของอีกฝ่าย

   เป็นการกระทำที่แสดงถึงความรุนแรงในครอบครัวและเป็นการทำร้ายจิตใจ เช่น ใช้เท้าแตะ ใช้กำปั้นตี ในกรณีด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เช่น เลวเหมือนพ่อมึง เป็นต้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2519

   คำกล่าวประชดประชัน ไม่ทำให้ผู้ใดเข้าใจผิด ไม่เป็นหมิ่นประมาทที่จะถือเป็นเหตุหย่า

   บาดแผลชกต่อยเป็นรอยช้ำเลือดที่แขน 7 แห่ง เท่าลูกมะนาว 7 วันหาย ไม่ถึงอันตรายแก่กายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ไม่เป็นเหตุหย่า

   ขู่ว่าจะให้จิ๊กโก๋ลากตัวกลับบ้าน ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2537

   จำเลยด่าว่าภริยาและมารดาของภริยาต่อหน้าบุคคลอื่นว่า"ซื้อหมาอ้วนมาตัวหนึ่งราคา 100,000 บาท วัน ๆ ไม่ทำอะไร นอนอยู่แต่หน้าเตา โคตรเง่าเหล่าอีหมวยกูไม่เอามาทำพันธุ์อีกแล้ว"คำว่าหมาอ้วนหมายถึงภริยาส่วนคำว่าอีหม่วยหรืออีม่วยหมายถึงมารดาของภริยา ถ้อยคำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทภริยาและบุพการีของภริยาอย่างร้ายแรงตามกฎหมายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นภริยาจึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

 

4 สามีหรือภริยา จงใจละทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี

   ต้องเป็นการทิ้งร้าง ไม่ใส่ใจดูแล หรือติดต่อใดๆ กรณีแยกกันอยู่ด้วยความจำเป็นในหน้าที่การงาน เช่น สามีไปรับราชการที่ต่างจังหวัด ไม่เป็นเป็นการละทิ้งร้าง

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550

   แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

 

5 สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในจำคุกหรือถูกจำคุกเกิน 1 ปีแล้ว

   ทั้งนี้อีกฝ่ายต้องไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วย

 

6 สามีและภริยาตกลงแยกกันอยู่ เพราะอยู่ด้วยกันโดยปกติสุขไม่ได้หรือตามคำสั่งศาล เป็นเวลาเกิน 3 ปี

    ต้องสมัครใจทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้น กรณีหนีกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ มิใช่สมัครใจ

   กรณี เช่น อยู่ด้วยกันแล้วมักทะเลาะวิวาทททุบตีกัน อีกฝ่ายจึงร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งแยกกันอยู่เป็นการชั่วคราว เกิน 3 ปี

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556

    ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม

 

7 สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญหรือหายไปเป็นเวลาเกิน 3 ปี

    กรณี เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศ ล่องเรือแล้วมีข่าวเรือถูกคลื่นพัดหายไปเกิน 2 ปี ศาลจึงมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

 

8 สามีหรือภริยาไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งจนเดือดร้อน หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง

    กรณีไม่อุปการะเลี้ยงดู เช่น ไม่จ่ายเงินดูเลี้ยงภริยาจนเดือดร้อน

    กรณีเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา เช่น ทำร้ายร่างกาย ยักยอกทรัพย์สินไปเป็นของตนฝ่ายเดียว ปฏิเสธไม่ยอมให้ร่วมประเวณี เป็นต้น แต่กรณีไปร้องเรียนผู้บังคับบัญชาให้ว่ากล่าวตักเตือน ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552

   จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

 

9 สามีหรือภริยาวิกลจริตต่อติดกันมาเกิน 3 ปี ยากที่จะรักษาให้หาย

    กรณี เช่น เป็นบ้า มีอาการดุร้าย รักษามา 3 ปีก็ไม่หาย เป็นต้น

 

10 สามีหรือภริยาประพฤติผิดหนังสือทัณฑ์บน

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2538

   จำเลยกู้ยืมเงินคนอื่นเพื่อใช้จ่ายในคดีที่โจทก์ถูกจับฐานพกอาวุธปืนและเพื่อใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหนี้สินทั้งหมดจึงเกิดจากการนำมาใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยและบุตรมิใช่เกิดขึ้นเพราะจำเลยนำไปเล่นสลากกินรวบดังที่โจทก์อ้างการกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(2) การที่จำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจึงด่าโจทก์และบุพการีว่ามึงมันเลวเหมือนโคตรมึงนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรงเพราะเป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้นถือว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสามีภริยาทั่วไปไม่ร้ายแรงถึงกับเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(3) หลังจากทำทัณฑ์บนแล้วโจทก์ยังมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่นจำเลยจึงดุด่าและทำร้ายโจทก์อีกการกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(8)

 

11 สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันเป็นภัยแก่อีกฝ่าย ไม่มีทางรักษาหายเช่น โรคเอดส์ เป็นต้น

    แต่มะเร็ง ฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะไม่ใช่โรคติดต่อ

 

12 สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาลเช่น สามีถูกตัดอวัยวะเพศ เป็นต้น

 

ข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า กล่าวคือ มีการให้อภัยในเหตุดังกล่าวแล้ว

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6002/2534

    โจทก์จำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ โจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไม่ได้ จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ 2 ครั้ง แม้จะเป็นความจริงดังที่โจทก์ฎีกา แต่เหตุเกิดก่อนฟ้องประมาณ 14 ปี และ 4 ปี ตามลำดับไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย คงอยู่กินด้วยกันตลอดมาแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าในข้อนี้ย่อมหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518

 

อายุความฟ้องหย่า

ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่รู้เหตุฟ้องหย่า มิฉะนั้นขาดอายุความ แต่ในกรณีเนื่องจากตลอดมา เช่น มีชู้ตลอดมา ก็ไม่ขาดอายุความ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535

    เมื่อกรณีมีเหตุที่ทำให้จำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะ เลี้ยงดูหญิงอื่น ถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวต่อพลทหารรับใช้ ขณะที่โจทก์ไปราชการชายแดนสาปแช่ง โจทก์ว่า ถ้าพิการก็เลี้ยงดูเอาเอง หากตายจะกลับมาเอาเงิน ทั้งบุพการีของโจทก์เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่า ทำตัวไม่น่านับถือ หากถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงก็ไม่เป็นการ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรง เป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์ อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเท่านั้น โจทก์อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา เมื่อจำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์และแยกไปอยู่ที่อื่น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า แต่กรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิ ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์ยังอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นและทำการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะให้จำเลยฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำยังไม่สิ้นสุด ฟ้องแย้งของจำเลย จึงไม่ขาดอายุความ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2551

    แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 กรณีสมรสกันตามกฎหมายต่างประเทศ หากจะมาฟ้องหย่ากัน ต้องใช้กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่าย โจทก์ต้องนำสืบกฎหมายนั้นด้วย หากไม่นำสืบศาลต้องยกฟ้อง

2 ต้องมีการแปลคำฟ้องและเอกสารใดๆที่เกี่ยวข้อง เป็นภาษาท้องถิ่นของจำเลย แล้วจัดส่งเอกสารไปยังภูมิลำเนาของจำเลยยังต่างประเทศ ตามขั้นตอนของสำนักงานศาลยุติธรรม ฝ่ายกิจการต่างประเทศ

 

ตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับการหย่า ประเทศญี่ปุ่น

THE CIVIL CODE OF JAPAN 2001 FA-FAA

Sub-Section 2 Judicial Divorce

(Judicial Divorce – causes)

Article 770. Husband or Wife can bring and action for divorce only in the following cases:

(1) If the other spouse has committed an act of unchastity

(2) If he or she has been deserted maliciously by the other spouse

(3) If it is unknown for three years or more whether the other spouse is alive or dead

(4) If the other party is attached with severe mental disease and recovery therefrom is hopeless

(5) If there exists any other grave reason for which it is difficult for him or her to continue the marriage.

2 Even in cases where any or all of the grounds mentioned in items (1) to (4) inclusive of the preceding paragraph exist, The Court may dismiss the action for divorce, if it deems the continuance of the marriage proper in view of all the circumstances

(Custody of Children, resumption of surname, distribution of property, genelogical records, Etc.)

Article 771. The Provision of Article 766 to 769 inclusive shall apply mutatis mutandis to judicial divorce.

 

ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศญี่ปุ่น 2001FA-FAA

หัวข้อย่อยที่ 2 การหย่าตามคำสั่งศาล

(การหย่าตามคำสั่งศาล - มูลฟ้อง)

มาตรา 770. สามีหรือภรรยาสามารถฟ้องหย่าในกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น

(1) ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม

(2) ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกทอดทิ้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

(3) ถ้าไม่ทราบว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว เป็นระระยเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

(4) ถ้าคู่สมรสฝ่ายฝ่ายหนึ่งมีจิตผิดปกติรุนแรงและไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

(5) ถ้ามีเหตุผลร้ายแรงอื่นใดซึ่งทำให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสบกับความยากลำบากในการรักษาสถานภาพการสมรสต่อไป

2. แม้ในกรณีที่มีการพบมูลเหตุใดๆ หรือทั้งหมดตามที่ได้กล่าวถึงในข้อ (1) ถึง (4) รวมถึงวรรคก่อนหน้า ศาลอาจยกฟ้องคำฟ้องหย่า ถ้าศาลเห็นว่าการรักษาสถานภาพการสมรสต่อไปมีความเหสาะสมตามพฤติการณ์ทั้งหมด

(อำนาจปกครองบุตร การกลับไปให้นามสกุลเดิม การแบ่งทรัพย์สิน บันทึกลำดับวงศ์ตระกูล เป็นต้น)

มาตรา 771. บทบัญญัติของมาตา 766 ถึง 769 ให้มีผลบังคับต่อการหย่าตามคำสั่งสาลโดยอนุโลม




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.