Company Logo

Contact Us

Notice

การแปลงหนี้ใหม่ คือ การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ตกลงกันก่อหนี้ขึ้นใหม่ โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับไป

หลักเกณฑ์

1 มีหนี้หรือสัญญาเดิม ที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว

2 เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของหนี้เดิม เช่น เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ - ลูกหนี้ เปลี่ยนเงื่อนไข เปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ หรือสิ่งที่ลูกหนี้ต้องกระทำ หรือเปลี่ยนมูลแห่งหนี้ เป็นต้น

3 ต้องทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ใหม่ โดยลูกหนี้เดิมยินยอม ทั้ง 2 ฝ่ายมีความประสงค์จะให้สิทธิเรียกร้องและภาระหน้าที่ระงับลง หากในกรณีที่เจ้าหนี้ทำสัญญากับลูกหนี้คนใหม่ แต่ลูกหนี้เดิมโดยสภาพแล้วไม่สามารถจะทักท้วงได้ เช่น ได้เสียชีวิตแล้ว สัญญาที่ทำนั้นย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่

4 มีเจตนาให้หนี้เดิมระงับ มีหนี้ใหม่เกิดขึ้นแทน แต่ถ้าหนี้ใหม่ไม่เกิดหนี้เดิมก็ไม่ระงับ

 

ประมวลกฎหมายและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 349 เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่

    ถ้าทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ท่านถือว่าเป็นอันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้นั้น

    ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 350 แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น เปลี่ยนลูกหนี้โดยทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ อ้างว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้รับเงิน ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2549

    มูลหนี้เดิมที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญากู้เงินตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

    การนำสืบว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องไม่เป็นการต้องห้าม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2548

    การที่จำเลยว่าจ้าง น. ให้เป็นตัวแทนเรียกค่าเสียหายจาก ก. โดยจำเลยทำเป็นสัญญากู้เงิน น. ไว้ เท่ากับว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้จ้างทำของมาเป็นหนี้เงินกู้ หนี้จ้างทำของจึงระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากู้เงินกับ น. ก่อน น. โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงระงับ น. ไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่าระงับไปแล้วให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลย

 

ประเด็น แปลงหนี้ใหม่ โดยผู้ค้ำฯไม่ยินยอม ผู้ค้ำฯจึงพ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2552

    การที่โจทก์และจำเลยที่ 3 แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

    สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการเพิ่มจำนวนหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิด และเปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และตกลงที่จะผูกพันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้เดิม คือ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 16 ฉบับ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิด

 

ประเด็น จะอ้างทำสัญญาใหม่ โดยถูกข่มขู่หรือไม่มีเจตนายินยอม ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2553

    บุตรจำเลยเช่ารถยนต์รวม 3 คัน ซึ่งเป็นของโจทก์ ส. และ น. บุตรจำเลยกลับนำรถยนต์ไปจำนำผู้มีชื่อแล้วไม่สามารถนำรถยนต์มาคืนเพราะไม่มีเงินค่าไถ่รถที่จำนำไว้ โจทก์แจ้งความเพื่อนดำเนินคดีแก่บุตรจำเลย ก. บุตรเขยแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ได้นำรถของโจทก์ไปจำนำไว้และได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ขอให้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากจำเลยเป็นมารดาของ ว. ซึ่งเช่ารถยนต์ของโจทก์กับพวกไปและนำรถไปจำนำแล้วไม่มีเงินค่าไถ่รถยนต์คืน โจทก์จึงไปแจ้งความกล่าวหาบุตรสาวจำเลยและได้เจรจากัน ต่อมาจำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ การที่โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หากไม่ทำก็จะดำเนินคดีอาญาแก่บุตรของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต อันถือได้ว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 สัญญากู้ยืมเงินจึงมีผลใช้บังคับได้ และการที่จำเลยซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์มาทำสัญญากู้เนื่องจากบุตรจำเลยมีหนี้กับโจทก์เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 350 ก็มิได้บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ทำขึ้นโดยขืนใจลูกหนี้เดิมแล้ว สัญญาแปลงหนี้ใหม่จึงใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้พิพาท

 

ประเด็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551

    ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว

    ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ

 

ประเด็น ไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับ ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2552

   หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของ บ. ที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ บ. ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.