Company Logo

Contact Us

Notice

ทนายคดรบรองบตรThanuLaw

จดทะเบียนรับรองบุตร

    กฎหมายถือว่าเด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546

    ดังนั้น การรับรองบุตร เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้ โดยสิทธิต่างๆของบุตร มีผลย่อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่

 

สามารถทำได้ 3 วิธี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

1. เมื่อบิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังหรือก่อน แม้การสมรสดังกล่าวจะเป็นโมฆะหรือโมฆียะก็ตาม มาตรา 1457

2. บิดาจดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตร หมายถึง ทะเบียนรับรองบุตร คร.11 สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก แต่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็ก โดยทั้งสองคนต้องไปให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน แต่หากบุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น มารดาถึงแก่ความตายแล้วหรือมารดาวิกลจริต หรือกรณีเด็กไม่อาจแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น อายุยังน้อยเกินไป เป็นต้น กรณีนี้นายทะเบียนจะจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ได้ จนกว่าจะมีคำสั่งของศาล มาตรา 1548 วรรคสอง

3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ในกรณีบิดาไม่สมัครใจยินยอม

 

"ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของบิดาและบุตร ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป"

 

ผลเสียการไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

1. เสียสิทธิต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในลักษณะ 1 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 

2. ไม่สามารถเรียกให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 

3. หากบุคคลภายนอกทำละเมิดให้บิดาตาย บุตรไม่สามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

4. บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 คือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว แต่ในความเป็นจริงมักจะถูกผู้จัดการมรดกปฏิเสธว่าไม่ใช่บุตร จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ความเป็นบุตรที่แท้จริง

5. หากบิดาเป็นข้าราชการ เมื่อบิดาตาย บุตรมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แต่เมื่อบุตรไปขอรับเงินจากทางราชการ แต่ทางราชการจะปฏิเสธว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บุตรต้องมายื่นคำฟ้องต่อศาลก่อน ซึ่งจะทำให้ถูกทายาทเจ้ามรดกคัดค้านว่าไม่ใช่บุตร

6. การลดหย่อนภาษี

7. Visa ประเภทอุปการะเลี้ยงดูบุตร ในกรณีบิดาเป็นชาวต่างชาติ

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง มีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา และมารดา    

2. ทะเบียนบ้านของบิดา มารดา และบุตร

3. สูติบัตรของบุตร   

4. ใบมรณบัตรของมารดา (กรณีมารดาเสียชีวิต)

5. ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล ของบิดา มารดา และบุตร (ถ้ามี)

6. หนังสือให้ความยินยอมของมารดาเด็ก กรณีมารดายังมีชีวิต

7. ใบสำคัญการหย่าของมารดา (ถ้ามี)

8. ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ ของ บิดา มารดา และบุตร (ในรูปภาพควรมีญาติอยู่ด้วย)

9. หนังสือรับรองการเรียนของบุตร จากโรงเรียน

10. ผลตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA ของสถานพยาบาลของรัฐ (กรณีมารดาเสียชีวิต)

 

เอกสารเพิ่มเติม กรณีบิดาเป็นชาวต่างชาติ

11. หนังสือเดินทางPASSPORT พร้อมแปลภาษาไทย

12. VISA แสดงการเข้า-ออกราชอาณาจักร

13. กฎหมายเกี่ยวกับรับรองบุตรของประเทศของบิดาหรือมารดาต่างชาติ กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการขัดกันของกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

 

เอกสารเพิ่มเติม กรณีบิดาตาย

14. มรณบัตรบิดา

15. บัญชีเครือญาติของบิดา

16. หนังสือให้ความยินยอมจากเครือญาติบิดา

 

ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดี

   กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง ไม่น้อยกว่า 45 วัน และภายในเวลา 15 วัน บิดาต้องนำบุตร และมารดาไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนฯ เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อศาลประกอบในการพิจารณา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว มาตรา 167

    ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้อง มารดา และบุตร ต้องมาศาลพร้อมนำเอกสารตัวจริง เมื่อพ้น 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง บิดาสามารถขอคัดถ่ายคำสั่งศาล และขอหนังสือสำคัญแสดงคดีถึงที่สุด แล้วนำไปดำเนินการจดทะเบียน ณ สำนักงานเขต / ที่ว่าการอำเภอใดก็ได้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 - 3 เดือน

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3. ค่าปิดประกาศคำร้อง ตามภูมิลำเนาผู้ร้อง ไม่เกิน 700 บาท

4. ค่าส่งหมายและสำเนาคำร้องไปยังคู๋ความอีกฝ่าย ไม่เกิน 700 บาท

5. ค่าส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนฯ 300 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ น่าสนใจ

ประเด็น ยื่นคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักงานทะเบียน สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ถือว่าชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551

    ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้

 

ประเด็น ยื่นคำฟ้อง โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักงานทะเบียน สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2521

    บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ถ้า) ประสงค์จะจดทะเบียนบุตรที่เกิด ก่อนสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องไปขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อสำนักทะเบียน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านการขอจดทะเบียนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะมีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลได้โดยฟ้องเด็กและมารดาร่วมกันเป็นจำเลย เมื่อปรากฏทั้งจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์และทางนำสืบว่าก่อนฟ้อง โจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองเด็กชายโอภาสต่อนายทะเบียนหรือจำเลยได้คัดค้านการขอจดทะเบียนข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายจึงยังไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไว้ในคำให้การและไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

    โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปให้ความยินยอมจดทะเบียนว่าเด็กชาย อ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ มอบคืนเด็กชาย อ. แก่จำเลย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้โจทก์มอบเด็กชาย อ. คืน ให้กับจำเลยตามฟ้องแย้งได้

 

ประเด็น มารดาเด็กสามารถฟ้องให้บิดารับรองบุตร พร้อมเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533

    ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ ขณะยื่นฟ้องเด็กซึ่งเป็นโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ส่วนฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูด้วย

 

ประเด็น ฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลายคน ศาลจะสั่งรวมไมไ่ด้ ต้องสั่งเป็นรายบุคคลไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

    สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

 

ประเด็น บิดาฟ้องรับรองบุตร สามารถขอถอนอำนาจปกครองมารดาในคดีเดียวกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540

    ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

 

ประเด็น บิดาตายแล้ว ต้องยื่นเป็นคำร้องต่อศาลเท่านั้น โดยส่งสำเนาให้แก่ทายาทผู้ตายคัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544

     การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

 

ประเด็น รับรองบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 กรณีบิดามีชีวิตอยู่ต้องทำเป็นคำฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2537

   การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่ชายผู้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเสนอคดีนั้น จะเสนอคดีเป็นคำฟ้องโดยยื่นคำฟ้องผู้ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วไม่ได้ เพราะไม่มีตัวความที่จะฟ้องเป็นจำเลยและในเบื้องต้นก็ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ การเริ่มคดีในชั้นแรกจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านขึ้นมา ศาลจึงจะดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท

 

ประเด็น พฤติการณ์รับรองบุตรของผู้ตาย เช่น แจ้งต่อนายทะเบียนให้ระบุในสูติบัตรว่าเป็นบิดา อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และยอมให้ใช้นามสกุล เป็นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533

   การที่ ผู้ตาย เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผู้ตาย รับรองแล้ว

 

อายุความ

1. กรณีบุตรฟ้องให้บิดารับตนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หากอายุเกิน 21 ปี บิดาสามารถปฏิเสธการรับเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ โดยยกอายุความขั้นต่อสู้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2528

    อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 นั้น คู่ความจะต้องยกขึ้นเป็นประเด็น ศาลจึงวินิจฉัยให้ตาม มาตรา 193 ศาลจะยกอายุความขึ้นวินิจฉัยเองโดยไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นเป็นประเด็นไม่ได้

 

2. กรณีร้องเป็นเป็นบุตรผู้ตาย อายุความ 1 ปี นับแต่บิดาถึงแก่ความตาย

 

เขตอำนาจศาล : ตามภูมิลำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้อง(บิดา)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อ เมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก

     ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้า เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่การ แจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน

     ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ต้องมีคำพิพากษาของศาล

     เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

มาตรา 1555 ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

   พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น

   ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

    เมื่อเด็กมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

    ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ

    ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้น 10 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้

มาตรา 1558 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

   ในกรณีที่ได้มีการแบ่งมรดกไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1559 เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481

ภาค 5 ครอบครัว

มาตรา 29 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตายให้ใช้กฎหมายเช่นเดียวกันบังคับการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร

มาตรา 30 สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดา

    ในกรณีที่เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย สิทธิและหน้าที่ระหว่างมารดากับบุตร ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของมารดา

มาตรา 31 การรับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาในขณะที่รับเป็นบุตร ถ้าหากในขณะนั้นบิดาได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาขณะที่ถึงแก่ความตาย

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. สำหรับกรณีมารดาเด็กและตัวเด็กเองไม่ได้ให้ความยินยอม บิดาต้องยื่นส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้มารดาเด็กเข้ามาคัดค้านในคดี

2. การจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน เด็กที่สามารถให้ความยินยอมได้ ต้องอายุเกิน 8 ปีบริบูรณ์

3. การตรวจ DNA ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ถ้าเจ้าตัวฝ่ายใดไม่ให้ความยินยอม กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่อีกฝ่ายกล่าวอ้าง

4. DNA ต้องตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น เช่น ร.พ.รามาธิบดี ค่าบริการคนละ 6,500 บาท

5. กรณีมารดาชีวิตแล้ว ศาลจะมีคำสั่งบังคับให้บิดากับบุตรไปตรวจ DNA แล้วนำผลมาแสดงต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวน

6. ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนของศาล บิดาต้องนำเอกสาร อันได้แก่ คำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานเขต / ที่ว่าการอำเภอ ใดก็ได้ พร้อมพยาน 2 คน จึงที่ถือว่าสมบูรณ์

7. การให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจ บิดามารดาต้องแสดงหลักฐานตัวจริงต่างๆเช่นเดียวกับที่ต้องแสดงต่อศาล

8. บิดาสามารถเลือกยื่นคำร้องต่อศาลได้ทั้งภูมิลำเนาของตน หรือที่อยู่กินกันกับมารดาของบุตร

9. กรณีพ่อหรือแม่เป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ ต้องใช้ล่ามในการให้ถ้อยคำสถานพินิจและในชั้นศาล

10. เพียงแต่การแจ้งในสูติบัตรบุตรว่าเป็นบิดา ไม่ถือว่าเป็นการจดทะเบียนรับรองบุตร แต่เป็นหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเบื้องต้นสำหรับการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น

11. การฟ้องคดีบิดาให้รับเด็กเป็นบุตร เมื่อเด็กอายุ 15 ปีบริบูรณ์ต้องฟ้องด้วยตนเอง หากเด็กยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องแทน

12. หากต้องการใช้คำพิพากษามีผลบังคับใช้ในประเทศของบิดาต่างชาติ ต้องแสดงข้อกฎหมายของประเทศนั้นๆต่อศาลด้วย

13. กรณีบิดาตาย บุตรสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งรับรองเป็นบุตรของผู้ตายได้ เพื่อขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ เงินสงเคราะห์กรณีตาย ต่อสำนักงานประกันสังคม 

14. กรณีมารดาไม่ให้ความยินยอม หรือเด็กยังไร้เดียงสาอยู่ ผู้ร้องไม่จำต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 365/2550

15. กรณีมารดาไม่ให้ความยินยอม ควรต้องให้ทนายความมีหนังสือแจ้งมารดาเด็กก่อนยื่นคำร้อง

16. คดีฟ้องรับรองบุตร ตาม พรบ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2578 มาตรา 20 ให้โจทก์ยื่นสำเนาคำพิพากษาพร้อมรับรอง ต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการบันทึกในทะเบียนได้เลย

17. ค่าเลี้ยงดูควรใช้อายุเป็นเกณฑ์มากกว่าการศึกษา

18. กรณีศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่ปฏิบัติ อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวมาสอบถามและตักเตือนได้ หากไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งกักขังจนกว่าจะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูมาชำระ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162

 

 

อัตราค่าบริการทนายความ คดีรับรองบุตร

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

คำร้องรับรองบุตร กรณีมารดาและผู้เยาว์ให้ความยินยอม

 

-x-

 

2

 

 

คำร้องรับรองบุตร กรณีบิดาเสียชีวิต

 

-x-

 

3

 

คำร้องรับรองบุตร ขอใช้อำนาจปกครอง

กรณีมารดาและผู้เยาว์ไม่ให้ความยินยอม

 

-x-

 

4

 

 

คำฟ้องบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรับรองบุตร
รียกค่าอุปการะเลี้ยงดู

 

-x-

 

5

 

 

คำร้องรับรองบุตร กรณีบิดาเป็นชาวต่างชาติ

 

-x-

 

6

 

 

คำร้องรับบุตรบุตร กรณีบิดาและมารดาเป็นชาวต่างชาติ

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.