Company Logo

Contact Us

Notice

การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่ขาดความรู้สึกและขาดความรับผิดชอบอย่างรุนแรง เช่น โรคสมองฝ่อ สมองเสื่อมขั้นรุนแรง สมองพิการ จิตไม่ปกติ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคพาร์กินสัน โรคชรา  อัมพาต เจ็บป่วยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่สามารถประกอบกิจการงาน และทำภารกิจส่วนตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้อย่างบุคคลทั่วไป ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลาซึ่งต้องจัดให้อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล ตามมาตรา 28 

    ไม่สามารถทำการได้ด้วยตนเอง ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทนทั้งหมด แต่บางนิติกรรมต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามมาตรา 1574

    ส่วนมากจะเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือคู่สมรส ผู้ซึ่งดูแลให้การักษาคนไร้ความสามารถ ถ้าไม่ได้เป็นผู้ดูแล ศาลก็มักจะไม่แต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 74/2511

คนอายุ 92 ปี ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้สึกตัว พูดรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ถือเป็นคนวิกลจริตแล้ว

 

คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ ผู้ที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

2.1. เป็นบุคคลมีกายพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แขนขาด ขาขาด  อัมพาต ซึ่งอาจเป็นมาโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น จากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ชราภาพ เป็นต้น

2.2. มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เช่น จิตผิดปกติ สมองพิการ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกลจริต

2.3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลงไปทุกวัน จนในที่สุดต้องหมดตัว

2.4. ติดสุรา เมาตลอดเวลา ติดฝิ่น เฮโรอีน จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

    แต่ไม่ถึงกับวิกลจริต ต้องจัดอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ ตามมาตรา 32 

    ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการไป โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ แต่ผู้พิทักษ์ไม่สามารถกระทำการแทนได้ ตามมาตรา 34 

    ถ้าไม่มีคู่สมรส ให้พ่อแม่เป็นผู้พิทักษ์ ถ้ามีคู่สมรสให้คู่สมรสเป็นผู้พิทักษ์

 

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 

1. คู่สมรส

2. บุพการี บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด

3. ผู้สืบสันดาน ลูก หลาน เหลน ลื่อ

4. ผู้ปกครอง กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง

5. ผู้พิทักษ์ คือ ผู้ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ 

6. ผู้ที่ปกครองดูแลอยู่ เช่น พี่สาว น้องชาย เป็นต้น

7. พนักงานอัยการ

8. บุตรบุญธรรม

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง

2. ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน หรือ Passport ของผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

3. เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่น สูติบัตร ใบสำคัญการสมรส ใบสำคัญการหย่า ใบมรณบัตรของคู่สมรสผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทะเบียนรับรองบุตร เป็นต้น

4. รายงานความเห็นแพทย์ ไม่เกิน 6 เดือน ระบุว่ามีความผิดปกติทางด้านร่างกาย สมอง หรือจิตใจ เช่น เป็นโรคสมองเสื่อม เส้นเลือดตีบ ไม่สามารถตัดสินใจ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือประกอบกิจการงานด้วยตนเองได้ ไม่สามารถทำนิติกรรมต่างๆได้ (สมควรให้มี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หรือจำเป็นต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด)

5. ภาพถ่ายของคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

6. บัญชีเครือญาติ

7. หนังสือยินยอมจากทายาทที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่สมรส ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ถ้ามี)

8. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)

9. บัตรประจำตัวผู้พิการ (ถ้ามี)

10. ตัวบทกฎหมายของสัญชาติผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ (กรณีชาวต่างชาติ)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3. ค่าส่งสำเนาคำร้องให้แก่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย อัตราตามระเบียบศาล

 

ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี คือ ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

 

ผลของคำสั่งศาล

1. นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงไปเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทน ยกเว้นนิติกรรมบางชนิด ต้องได้รับอนุญาจจากศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 เช่น ขาย ให้เช่าซื้อ จำนอง เป็นต้น

2. นิติกรรมที่ต้องทำเฉพาะตัว ต้องห้ามทั้งหมด เช่น การสมรส ทำพินัยกรรม เป็นต้น

 

ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ : เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เท่านั้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น สามีภริยาย่อมต้องเป็นผู้อนุบาล เว้นแต่ผู้อื่นเหมาะสมกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2509 

    ตามปกติสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลภริยาซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล เมื่อผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดคัดค้านต่อศาล ผู้คัดค้านชอบที่จะนำสืบแสดงเหตุสำคัญให้เห็นว่าศาลควรตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาล

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530 

    จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลย ทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม
    เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใดๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

 

ประเด็น การตั้งผู้อนุบาลร่วม อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการทำหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537 

    กรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องตั้งคู่สมรสเป็นผู้อนุบาลก่อนเพียงคนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การจะตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน จะไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 การจัดการสินสมรสของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/16 คือถ้าเป็นการจัดการตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้าน

 

หลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 28 บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าว คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

    บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

    คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 29 การใดๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 30 การใดๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะ ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา 31 ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใดๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น

มาตรา 32 บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่งต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

    ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

    คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 33 ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถเพราะวิกลจริต ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นวิกลจริต เมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้ว จึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(4) รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี

(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไป ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ เว้นแต่การร้องของตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

(11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

    ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

    คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 1463 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพุทธศักราช 2481

ภาค 2 สถานะและความสามารถของบุคคล

มาตรา 10 ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. โดยคำสั่งของศาลจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสามารถกด "ค้นหา" ได้ตาม Link http://www.mratchakitcha.soc.go.th/announce.html

2. การยื่นคำร้องให้ชาวต่างชาติเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ต้องอ้างตัวบทกฎหมายของสัญชาตินั้นด้วย

3. เมื่อเหตุที่ทำให้เป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลง ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้นได้

4. การเป็นผู้ไร้ความสามารถมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ฉะนั้นนิติกรรมที่ทำก่อนหน้าย่อมมีผลสมบูรณ์

5. ในการร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ดี หรือคนเสมือนไร้ความสามารถก็ดี ถ้าศาลเห็นว่าไม่ถึงระดับไร้ความสามารถ ศาลอาจสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้ หรือในทางกลับกัน โดยผู้ร้องควรยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องนั้นด้วย

6. กรณีเกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ผู้ร้องต้องไปให้ถ้อยคำสถานพินิจด้วย

7. เหตุส่วนใหญ่ที่ต้องตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ เพราะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่าย หรือค่ารักษาพยาบาลได้

8. หากความผิดปกติของโรคไม่ชัดเจน ศาลอาจมีคำสั่งให้นำแพทย์ผู้ทำการรักษามาเบิกความได้

9. ต้องไปให้ถ้อยคำผอ.สถานพินิจฯ กรณีผู้ไร้ความสามารถเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้ไป

 

   

อัตราค่าบริการว่าความคดีร้องขอตั้งผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์

                                              

 

ลำดับ

  

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

         

 

ยื่นคำร้องขอตั้งผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท    




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.