คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
คดีร้องขออนุญาต ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์
ทรัพย์สินของผู้เยาว์ หากยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือ อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจดทะเบียนสมรสเมื่ออายุครบ 17 ปี จะทำนิติกรรมย่อมต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ใช้อำนาจปกครองเสียก่อน หรือให้ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการแทนให้ เว้นแต่ "พินัยกรรม" ผู้เยาว์ทำได้เมื่ออายุ 15 ปี บริบูรณ์
เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ 13 ประการ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเสียก่อน เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินกิจการบางอย่างที่สำคัญ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1574 บัญญัติไว้ดังนี้
นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจาก ทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อ การกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่ รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับ ชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
มาตรา 1575 ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น บิดามารดาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของผู้เยาว์ โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลไม่ได้
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 150/2507
ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาอื่น ซึ่งผูกมัดให้จำต้องขายที่ดินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2533
การโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อผู้ขายสละเจตนาครอบครองให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ได้สิทธิครอบครองทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บิดาทำสัญญาขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์ โดยฝ่าฝืน ป.พ.พ.มาตรา 1574(1) สัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันที่ดินของบุตร
ประเด็น ข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วม ในส่วนของผู้เยาว์ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตกเป็นโมฆะทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4860/2548
โจทก์และจำเลยทั้งสิบสอง ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 2 แปลง ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ และระบุตำแหน่งที่ดินส่วนของโจทก์ไว้ด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 เท่ากับว่า กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตน จนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วย เพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่าๆ กัน โดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 12 จะพึงได้รับ เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง
ประเด็น สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ เกิน 3 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2170/2516
บิดาทำสัญญาต่างตอบแทนให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ตลอดชีวิตผู้เช่า โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 การให้เช่ามีผลผูกพันบุตรผู้เยาว์เพียง 3 ปี
ข้อสังเกตุ แม้จะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา ก็ไม่ผูกพันธ์ผู้เยาว์
ประเด็น ตกลงค่าสินไหมทดแทน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 326/2524
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาแทนเด็ก จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)(เดิม) เมื่อบิดาโจทก์ทำสัญญาแทนโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง
1 สูติบัตร
2 ใบสำคัญการสมรส
3 ทะเบียนบ้าน
4 บัตรประจำตัวประชาชน
5 มรณบัตร
6 โฉนดที่ดิน พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมิน ไม่เกิน 3 เดือน
7 หนังสือรับรองเงินเดือน
8 เอกสารการเป็นหนี้สิน เช่น สัญญากู้ยืมเงิน ค่างวดเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น
9 หนังสือรับรองสถานศึกษา บัตรประจำตัวนักเรียน
10 หนังสือให้ความยินยอมของผู้เยาว์
11 สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน(ถ้ามี)
ตัวอย่างรายการทรัพย์สิน : ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม รถยนต์ หุ้น
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็จะสั่งอนุญาตแล้ว ผูัแทนโดยชอบธรรมจึงอาศัยคำสั่งอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้
2 ผู้ร้องต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อศาล ภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง
3 การขอจัดการทรัพย์แทนผู้เยาว์นั้น ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์มากที่สุด
4 หากไม่จำเป็นจริงๆ ศาลมักมีความเห็นไม่อนุญาต เช่น นำไปเป็นค่าการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ เป็นต้น
5 การเบิกจ่ายหรือเก็บรักษาเงิน ศาลอาจมีคำสั่งให้สถานพินิจฯจัดการควบคุมดูแล ตรวจสอบได้ แล้วให้ผู้ร้องมาเบิกจากเจ้าหน้าที่ตามความจำเป็น ก็ได้
6 เว้นแต่ ผู้ร้องจะแสดงให้ศาลเห็นว่าการขอเบิกเงินจากสถานพินิจฯไม่สะดวก ศาลก็อาจไม่มีคำสั่งให้สถานพินิจฯเป็นผู้เก็บรักษาเงินก็ได้
7 ต้องให้ผู้เยาว์เบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันว่ายินยอมด้วย
8 ให้ผู้จะซื้อที่ดินเบิกความยืนยันว่าซื้อขายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
9 เขตอำนาจศาลคือศาลที่ที่ดินตั้งอยู่
10 สามารถขอขายที่ดินทั้งแปลงหรือบางส่วนก็ได้ กรณีขายบางส่วนต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดทำแผนที่พิพาทแสดงส่วนที่ดินที่จะขาย และแสดงส่วนที่ดินที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เยาว์
อัตราค่าบริการว่าความคดีร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ |
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำร้องต่อศาล |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท
ตัวอย่าง "คำร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์"
ข้อ 1. ผู้ร้องเป็นมารดาผูัแทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ก.ที่ 2 ผู้เยาว์ซึ่งเกิด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 ปัจจุบันมีอายุ 18 ปี ซึ่งเกิดแต่นาย ก. สามีโดยชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสูติบัตร ใบสำคัญการสมรส และสำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 ถึง 3 ตามลำดับ
ข้อ 2. ผู้ร้องกับนาย ก. สามี ได้ร่วมกันอุปการะเลี้ยงผู้เยาว์มาโดยตลอด จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 สามีของผู้ร้องได้ถึงแก่ความตาย รายละเอียดปรากฎตามสำเนามรณบัตร เอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 4
ข้อ 3. ผู้เยาว์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 1111 เลขที่ดิน 2222 ตำบล ดอนเมือง อำเภอ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ นาง บ. โดยผู้เยาว์ได้รับที่ดินดังกล่าวมาโดยการรับมรดก รายละเอียดปรากฎตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 5
ข้อ 4. ผู้ร้องมีอาชีพ รับจ้าง มีรายได้เพียงเดือนละ 6,000 บาท รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองเงินเดือน เอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 6
ประกอบกับผู้ร้องยังมีหนี้สิน จำนวนมาก รายละเอียดปรากฎตามสำเนาค่างวดรถยนต์ และสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 7 และ 8
หลังจากสามีได้ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องได้อุปการะเลี้ยง และให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์มาตลอด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินเป็นทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายประจำเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยปัจจุบันผู้เยาว์กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองสถานศึกษาและบัตรประจำตัวนักเรียน เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 9 และ 10
ข้อ 5. ผู้ร้องและผู้เยาว์จึงมีความจำเป็นต้องขายที่ดินส่วนของผู้เยาว์ให้แก่นาย ง. ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 400,000,000 บาท (สี่ร้อยล้านบาทถ้วน) อันเป็นราคาสมควรขณะนี้และสูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน จึงไม่ทำให้ผู้เยาว์เสียเปรียบแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองราคาประเมิน เอกสารทายคำร้อง หมายเลข 11
ทั้งนี้ ผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอมให้ขายที่ดินดังกล่าวได้ เพื่อที่จะนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อโอกาสที่ดีทางการศึกษาและหน้าที่การงานในอนาคตของผู้เยาว์ โดยเงินที่เหลือจากการขายที่ดินผู้ร้องจะนำฝากธนาคารออมทรัพย์เพื่อประโญชน์ของผู้เยาว์ต่อไปด้วย รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือให้ความยินยอมของผู้เยาว์ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 12
ด้วยเหตุจำเป็นดังกล่าว ผู้ร้องจึงขอให้ศาลได้โปรดไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ตามที่ดิน โฉนดเลขที่ 1111 เลขที่ดิน 2222 ตำบล ดอนเมือง อำเภอ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวแทนผู้เยาว์ต่อไป
ควรมิควรแล้วงแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้าว่าที่ร้อยตรีธนู กุลอ่อน ทนายผู้ร้อง เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์