Company Logo

Contact Us

Notice

สัญญาระหว่างสมรส

ในระหว่างที่สามีภริยาได้สมรสกันแล้ว มีสิทธิทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ เช่น สัญญายกทรัพย์สินให้แก่กัน สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือเช่าทรัพย์สิน รวมถึงสัญญาแบ่งสินสมรส ไม่ว่าทั้งหมดหรือเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้

 

แบบของสัญญา

กฎหมายไม่ได้กำหนด ฉะนั้น ด้วยวาจา เป็นหนังสือ หรือโดยปริยา ก็บังคับได้

 

การบอกล้าง

1 เวลาใดก็ได้ในระหว่างเป็นสามีภริยากันอยู่

2 กฎหมายอนุญาตให้สามีหรือภริยาบอกล้างสัญญานั้นได้ในระหว่างสมรสหรือภายใน 1 ปีนับจากการสมรสสิ้นสุดลง ตาย หย่า หรือศาลมีคำพิพากษา ตามมาตรา 1469

 

ผลการบอกล้าง : กลับมาเป็นสินสมรสดังเดิม

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ น่าสนใจ

ประเด็น สามียกทรัพย์สินให้เป็นสินส่วนตัวภริยา ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2530

   โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียว ในระหว่างสมรส จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้ทรัพย์สินนั้นหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ และสัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และทรัพย์สินนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นต่อไป โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินดังกล่าวได้

   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวนั้น มิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2530

    เมื่อสามีทำหนังสือสละสิทธิในทรัพย์สินทั้งปวงให้แก่ภริยาที่พิพาทซึ่งในโฉนด มีชื่อ ภริยาถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว ย่อมตก เป็นกรรมสิทธิ์ของภริยาโดยสมบูรณ์ หาจำต้องจดทะเบียนกันอีกไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

   โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

   แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

    การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

 

มาตรา 1476/1 สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

    ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476

 

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.