คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
การตรวจ DNA (Deoxy Ribonucleic Acid)
» นำมาใช้ในด้านการพิสูจน์บุคคล เพื่อทราบว่าเป็นบุตรของบิดามารดาหรือไม่ เมื่อผลออกมาว่าใช่หรือไม่ ก็จะหมดข้อโต้แย้งหรือข้อกังขา
» ในการตรวจพิสูจน์ DNA สามารถขอตรวจได้เสมอ แม้ยังไม่มีการฟ้องร้องคดี หรือจะอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล
» หากคู่กรณี ไม่ว่า บิดา มารดา บุตร ไม่ยอมให้ตรวจ DNA ก็ไม่สามารถบังคับให้ตรวจได้ ดังนั้นในการตรวจของผู้ตรวจ จึงควรให้ทำหนังสือยินยอมให้ตรวจทุกครั้ง
» หากไม่แน่ใจไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ไม่มีข้อห้ามว่าห้ามตรวจซ้ำอีก เพียงแต่อาจร้องขอหรือว่าจ้างให้หน่วยงานแห่งอื่นตรวจใหม่ได้ แต่วิธีการตรวจถ้าให้ชัดเจนควรตรวจอย่างน้อย 2 แห่ง และทั้ง บิดา มารดา บุตร ควรไปตรวจพร้อมกัน
» ข้อกฎหมายครอบครัว ให้ถือว่าลูกที่ไม่มีการสมรสเป็นลูกของแม่เสมอ แต่พ่อไม่ใช่ หากพ่อต้องการเป็นพ่อตามกฎหมายต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตร
» ในกรณีที่มีการฟ้องให้พิสูจน์เพียงว่าเป็นบุตรหรือไม่ สำหรับในการดำเนินคดีปกติทั่วไป ทนายความส่วนมากจะเป็นการฟ้องให้ศาลสั่งว่าเป็นบุตรที่บิดารับรองเป็นบุตรตามกฎหมาย เมื่อศาลเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี ก็อาจมีการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิสูจน์ DNA แต่ถ้าบิดา มารดา บุตร ฝ่ายใดไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ ศาลจะบังคับไม่ได้ บุตรต้องนำสืบในพฤติการณ์ที่ผ่านมาในอดีตให้เข้าข้อกฎหมายว่าบิดารับรองว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
» การตรวจ DNA นั้นแม้ผลการตรวจจะเห็นชัดเป็นบุตรจริง แต่ถ้าบิดาไม่เคยมีพฤติการณ์ตามกฎหมายรับรองว่าเป็นบุตร และบิดาจะไม่ยอมจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเสียอย่าง เพราะจะมีผลตามกฎหมายเยี่ยงบุตรคนหนึ่งทันที ทั้งนี้ที่บิดาไม่ยอมรับรองบุตรนั้น บิดาอาจมีสาเหตุได้ในหลายๆเรื่องจนไม่สามารถจดรับรองได้ เช่น หากจดอาจมีปัญหาครอบครัวกับภรรยา หรือบุตรที่อยู่ด้วยกันปัจจุบัน ทำให้บิดาไม่สามารถรับรองบุตรได้ ดังนี้ตามกฎหมายแม้ผลพิสูจน์ว่าเป็นบุตร ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น แต่แม้ว่าบิดาที่ไม่สามารถจดรับรองบุตรได้ก็จริง แต่เนื่องจากรู้ว่าตนเป็นบิดาของบุตรจริง บิดาก็สามารถส่งเสีย เลี้ยงดูบุตร เป็นการส่วนตัวได้ และหากอยากยกทรัพย์สินให้บุตรเมื่อตนตายแล้ว ก็สามารถทำได้โดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การขอให้ตรวจพันธุกรรมหรือ DNA เมื่ออีกฝ่ายไม่สมัครใจ ผลของคดีจะเป็นอย่างไร?
ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 บัญญัติว่า
ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใดๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้
ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
มาตรา 160 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอํานาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดําเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สําคัญแห่งคดี ทั้งนี้ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทําการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้ความยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสั่งตามมาตรานี้ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกําหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้
ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 นี้ เป็นการตรวจพยานหลักฐานโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ให้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นคู่ความ แต่ไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างส่วนประกอบจากร่างกายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง แต่ถ้าบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจเป็นบุคคลอื่นมิใช่คู่ความ แล้วบุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อคดีและไม่เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าว
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 ราคาค่าบริการในการตรวจ DNA จะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง สามารถติดต่อสอบถามทางโรงพยาบาลก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 6,000 - 8,000 บาทต่อคน
2 การตรวจที่เป็นหลักฐานในชั้นศาล ต้องตรวจที่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลตำรวจ สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
3 การเก็บตัวอย่างโดยป้ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มหรือเจาะเลือด
4 นัดฟังผลประมาณ 1 - 2 เดือน
5 เอกสารที่ต้องเตรียมไป ได้แก่ บัตรประชาชน Passport(สำหรับชาวต่างชาติ) ทะเบียนบ้าน สูติบัตรบุตร เป็นต้น
6 บิดา มารดา และบุตร ต้องถ่ายรูปพร้อมกันด้วย