Company Logo

Contact Us

Notice

ขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ และผู้อยู่ในปกครอง

    เด็กผู้เยาว์ที่บิดามารดาถึงแก่ความตายไปแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องตั้งผู้ปกครอง เพื่อมาคุ้มครองดูแล ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นญาติของเด็ก ให้มาทำหน้าที่จนกว่าเด็กจะบรรลุนิติภาวะ

 

วิธีการตั้งผู้ปกครอง : เฉพาะโดยคำสั่งศาลเท่านั้น โดยมีบุคคลที่จะสามารถขอได้ ดังนี้

1 ญาติของเด็ก

2 อัยการ

3 บุคคลซึ่งพินัยกรรมระบุให้เป็นผู้ปกครอง

 

คุณสมบัติของผู้ปกครอง

1 บรรลุนิติภาวะ

2 ไม่เป็นบุคคลไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

4 ไม่เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

5 ไม่เป็นบุคคลซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ หรือญาติสนิทของผู้เยาว์

6 ไม่เป็นบุคคลที่บิดาหรือมารดาห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

 

สิทธิและหน้าที่

1 ผู้ปกครองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นศาลอาจสั่งถอนได้ และยังต้องทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละ 1 ครั้ง

2 ถ้ามีหนี้สินต่อกัน ต้องแจ้งต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน

3 ผู้ปกครองเป็นผู้แทนของผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีสิทธิเช่นเดียวกับบิดามารดา รวมทั้งอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน

4 หากผู้เยาว์อายุเกิน 15 ปี การจัดการทรัพย์สินต้องปรึกษาผู้เยาว์ก่อน

5 ผู้อยู่ในปกครองไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครอง

6 ผู้อยู่ในปกครองไม่มีสิทธิใช้นามสกุลผู้ปกครอง

7 ผู้อยู่ในปกครองมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้ปกครองได้

8 ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมต่อกัน

 

การสิ้นสุดของผู้ปกครอง

1 บรรลุนิติภาวะ หรือตาย

2 ล้มละลาย

3 ลาออก

4 กลายเป็นบุคคลไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

4 ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่

5 ใช้อำนาจหน้าโดยมิชอบ

    เมื่อความปกครองสิ้นสุดแล้ว ผู้ปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินพร้อมทั้งบัญชีคืนให้ผู้อยู่ในปกครองโดยเร็ว หากนำเงินไปใช้ส่วนตัว ต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี นับแต่วันที่นำเงินไปใช้

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง มีดังนี้

1 สูติบัตรของผู้เยาว์   

2 ใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้เยาว์

3 บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้ร้อง

4 ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล (ถ้ามี)

5 ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้อง กับผู้เยาว์ 

6 บัญชีเครือญาติ

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1 ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2 ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3 ค่าปิดประกาศคำร้อง ตามภูมิลำเนาผู้ร้อง ไม่เกิน 700 บาท

4 ค่าส่งหมายและสำเนาคำร้องไปยังคู๋ความอีกฝ่าย ไม่เกิน 700 บาท

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น มีมารดาใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว ญาติทางบิดาจะขอร่วมใช้อำนาจปกครองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4990/2537

    กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566(6) เมื่อเด็กหญิง ว. ผู้เยาว์มีมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว การที่จะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว แต่เมื่อเด็กหญิง ว. ยังมีจำเลยซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่ โดยยังไม่ได้ถูกถอนอำนาจปกครอง กรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้อีก ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590

 

ประเด็น บิดายังมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง ยายไม่มีอำนาจมาร้องขอตั้งเป็นผู้ปกครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2491

   ยายจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนรับรองบุตรที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นบิดาของเด็กหาได้ไม่

เมื่อเด็กยังมีบิดาอยู่ และโดยที่บิดามิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว ยายไม่มีอำนาจร้องขอเป็นผู้ปกครองเด็ก

 

ประเด็น กฎหมายไม่ได้บังคับให้ตั้งผู้ปกครอง และการตั้งผู้ปกครองก็เป็นคนละเรื่องกับการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2542

    การตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว เมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์มีมารดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครอง กรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ การจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ต้องเป็นที่แน่ชัดว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้วทั้งสองคน แม้บิดาผู้เยาว์ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เยาว์ยังมีมารดาซึ่งทิ้งร้างไปอยู่ที่อื่น ยังไม่แน่ว่ามีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว เหตุนี้จึงยังไม่อาจตั้งผู้ปกครอง เพื่อทำหน้าที่แทนบิดามารดาได้ กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องตั้งผู้ปกครองให้กับผู้เยาว์เสมอไป การตั้งผู้ปกครองของผู้เยาว์เป็นคนละกรณีกับการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ หาใช่เหตุที่จะนำมาซึ่งการตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ไม่

 

ประเด็น การถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลเท่านั้น กรณีตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองท้ายทะเบียนการหย่า ต่อมาเมื่อฝ่ายที่ใช้อำนาจปกครองตาย อำนาจจึงกลับคืนไปอยู่กับอีกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548

    ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. ซึ่งเป็นบิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครอง เพราะการถอนอำนาจปกครองเป็นอำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

    ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา 1582 วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้

มาตรา 1586 ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง

    ภายใต้บังคับมาตรา 1590 การตั้งผู้ปกครองนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา 1587

มาตรา 1587 บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่

(1) ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

(2) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย

(3) ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

(4) ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์

(5) ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 กรณีบิดามารดาเด็ก อยู่ต่างประเทศ แต่มิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง จะขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองไม่ได้

2 หากเพียงบิดาเสียชีวิต แต่ยังมีมารดาอยู่ บุคคลอื่นแม้จะเลี้ยงดูนานเท่าใดและสิ้นเงินไปมากเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิขอตั้งเป็นผู้ปกครอง

3 กรณีเด็กถูกทิ้งข้างถนน ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องทดลองเลี้ยงดูชั่วคราวก่อนไม่เกิน 6 เดือน หรือให้สถานพินิจฯกำกับดูแล เพื่อทำรายงานประกอบการพิจารณาคดีของศาล

4 กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตาย บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมามีอำนาจปกครองผู้เยาว์ทันที ไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้

5 การตั้งผู้ปกครอง เป็นคนละกรณีกับการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์

6 โดยหลักการ ศาลจะตั้งเพียงคนเดียว เพื่อสะดวกต่อการใช้สิทธิ เว้นมีเหตุจำเป็นจึงจะตั้งหลายคนได้

 

 

อัตราค่าบริการว่าความคดี ร้องขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำร้องต่อศาล / คััดค้านคำร้อง

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท  




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.