Company Logo

Contact Us

Notice

คดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

    เมื่อสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว แต่ยังคงต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไป เพราะการหย่าขาดจากกัน มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรสิ้นสุดลง โดยในการหย่าโดยความยินยอมอาจมีการกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ แต่หากมิได้ตกลงกันไว้ในท้ายทะเบียนการหย่า ต้องให้ศาลสั่งกำหนดจำนวนเงินให้ตามสมควร 

    กรณีทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ ย่อมมีความผิดอาญา มาตรา 307

    ค่าอุปการะเลี้ยงดู ถือเป็นหนี้ร่วมกัน แม้จะใช้อำนาจปกครองเพียงฝ่ายเดียว หากอีกฝ่ายเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดู ก็สามารถมีสิทธิเรียกร้องในนามตนเอง โดยกรณีเช่นนี้มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่ฝ่ายนั้นได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว

 

ค่าอุปการะเลี้ยงดู ได้แก่

» ค่าที่พักอาศัย

» ค่าอาหาร

» ค่าเสื้อผ้า

» ค่าการศึกษาเล่าเรียน / อบรม

» ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ความรับผิดถือเป็นลูกหนี้ร่วม เมื่อไม่ชำระ อีกฝ่ายมีสิทธิฟ้องเรียกได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1691/2528

    บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ ในลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน

    สามีภริยาหย่าขาดจากกันและตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของฝ่ายหนึ่ง โดยมิได้ตกลงกันว่าฝ่ายที่ปกครองบุตรนั้นจะเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียว ดังนี้ ฝ่ายที่ปกครองบุตรย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่วันหย่าจนถึงวันฟ้องเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้

 

ระเด็น ฟ้องแต่ไม่ได้บรรยายฐานะ ก็ถือว่าเข้าใจได้ ไม่ทำให้หลงต่อสู้ แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3237/2533

    โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย แม้ในคำบรรยายฟ้องกล่าวว่าโจทก์ขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลย แต่ในเอกสารท้ายฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องก็ได้ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์และบุตร ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้ว่าขอให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและตัวโจทก์เองด้วย แม้ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์กระทำแทนบุตรก็ไม่ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1565 ให้บิดาหรือมารดานำคดีที่เกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขึ้นว่ากล่าวก็ได้ แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจบิดามารดาเป็นพิเศษที่จะยกคดีขึ้นว่ากล่าวเอง โจทก์ไม่ต้องระบุในคำฟ้องว่าโจทก์ในฐานะมารดาผู้กระทำการแทนบุตร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

 

ประเด็น แม้โอนบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

    โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือน จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว แม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่ แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1578/28 โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง

 

ประเด็น ฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลายคน ศาลจะสั่งรวมไมไ่ด้ ต้องสั่งเป็นรายบุคคลไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

    สิทธิของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรผู้เยาว์แต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

 

ประเด็น หากศาลมีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่ปฏิบัติตาม

    อีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวมาสอบถามและตักเตือนได้ หากไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาล ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งกักขังจนกว่าจะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูมาชำระ แต่ไม่เกิน 15 วัน ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162

 

ประเด็น คดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

    โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว

    เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่

    แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว

 

ประเด็น แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดไปแล้ว หากพฤติการณ์ รายได้ และฐานะได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาให้เพิกถอน ลด หรือกลับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 โดยต้องยื่นมาให้คดีเดิมจะ ฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540

   มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้นเมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลมเมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู อีกก็ได้

   ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียง อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หาก พฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควร ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลง คำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

 

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

มาตรา 162 ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางศาลตามเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษามีรายได้ประจำ ศาลอาจสั่งให้อายัดเงินเท่าจำนวนที่จะชำระเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน แล้วให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินดังกล่าวนำเงินมาวางศาลแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา

    เมื่อความปรากฏต่อศาลเองหรือผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ร้องต่อศาลว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลเรียกตัวมาสอบถาม หากปรากฏเป็นความจริงให้ศาลว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

    ในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของศาลตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับและสั่งให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้จนกว่าลูกหนี้จะนำเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพมาชำระหรือวางศาล แต่ห้ามมิให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้งเกินกว่า 15 วันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

ภาค 5 ครอบครัว

มาตรา 36 หน้าที่อุปการะเลี้ยงดู ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลซึ่งถูกเรียกร้องให้อุปการะเลี้ยงดู

อย่างไรก็ดี บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจะเรียกร้องเกินกว่าที่กฎหมายไทยอนุญาตไม่ได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 307 ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่ง พึ่งตนตนเองมิได้ เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการ หรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสียโดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิด อันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 การฟ้องคดีตามกฎหมายนี้ บิดาหรือมารดา เป็นโจทก์ในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ไม่เป็นคดีอุทลุม

2 กรณียังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย สามารถขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรและจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีเดียวกันได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตร อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2268/2533

3 เมื่อมีข้อตกลงเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียน และค่ารักษาพยาบาลบุตร สัญญาแล้ว จะมีอ้างเหตุภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาคนใหม่ และมีหนี้สินมาอ้างเพื่อปัดความรับผิดไม่ได้

4 สามารถขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างดำเนินคดีได้ โดยวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา 

5 สามารถขอแก้ไข ลด เพิ่ม ได้ หากฐานะและรายได้เปลี่ยนแปลงไป

6 ค่าเลี้ยงดูควรใช้อายุเป็นเกณฑ์มากกว่าการศึกษา

 

 

อัตราค่าบริการทนายความ คดีเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำฟ้อง / คำให้การ ต่อสู้คดี

 

-x-

 

2

 

 

บริการร่างสัญญาค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

 

ฉบับละ -x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.