คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
สินสอด
เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่หญิงยอมสมรสด้วย ซึ่งจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน
ถ้าไม่มีการสมรสโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง มีพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรส หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมแต่งงานด้วย ก็ต้องคืนสินสอดให้ฝ่ายชาย
แต่ถ้าแต่งงานกันแล้ว มาหย่าภายหลัง สินสอดก็ไม่ต้องคืน
ข้อสำคัญทางกฎหมาย
ทั้งสินสอด และของหมั้น ชายหญิงต้องมีเจตนาไปจดทะเบียนตามกฎหมาย
หากชายหญิงไม่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ให้ไปนั้นเป็นสินสอด ฝ่ายชายเรียกคืนไม่ได้
วิธีการคืนสินสอด
1. เงินตรา คืนเพียงส่วนที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน แต่หากนำไปซื้อทรัพย์สินอื่น ต้องนำทรัพย์นั้นคืนให้ฝ่ายชาย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์
2. มิใช่เงินตรา คืนตามสภาพในขณะเรียกคืน อีกทั้งไม่ต้องรับผิดชอบกรณีสูญหายด้วย
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการสมรส ถ้าได้มีการตกลงว่าจะให้ แต่ไม่ยอมให้ บิดามารดาฝ่ายหญิงฟ้องเรียกค่าสินสอดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2237/2519
ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1436 เพราะเป็นการแต่งงานกันตามประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์จะแต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลยโดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าว เมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้วจำเลยก็ต้องชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้
ประเด็น ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินสอด คือ บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2517
ผู้ที่มิใช่บิดามารดาและไม่เป็นผู้ปกครองของหญิงย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 วรรคท้าย ได้
ประเด็น ให้แก่บุคคลอื่น อันไม่ใช่ค่าสินสอด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2526
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและทำบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ที่ด้านหลังทะเบียนการสมรสว่า ฝ่ายชายยกที่ดินพิพาทเป็นสินสอดฝ่ายหญิง เมื่อปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ถึงแก่กรรมก่อนที่โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันและไม่ปรากฏว่าโจทก์มีผู้ปกครองในขณะจดทะเบียนสมรส การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ในลักษณะที่เป็นสินสอด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 แต่การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้ โจทก์ก็เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมสมรสกับจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภริยาแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกดังกล่าวได้
อายุความเรียกคืนสินสอด : 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
อัตราค่าบริการว่าความ คดีฟ้องเรียกค่าสินสอด
|
||
ลำดับ |
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี ค่าสินสอด |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท