คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
คดีเรียกบุตรคืน
เด็กที่เกิดจากหญิง ซึ่งมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกับชาย กฎหมายให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิง จึงต้องอยู่ในอำนาจปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ชายจะยินยอมให้บุตรใช้นามสกุล และทะเบียนบ้านระบุว่าเป็นบิดาก็ตาม ก็ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งชายจะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ต้องเป็นกรณีจดทะเบียนสมรสกับมารดาบุตร หรือจดทะเบียนรับรอบบุตร หรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่กรณีเป็นเพียงบุตรนอกกฎหมาย ตามกฎหายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน บุตรมีเพียงสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ของบิดาเท่านั้น
ดังนั้น เมื่ออำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาแต่เพียงผู้เดียว หากบิดาไม่ยินยอมคืนบุตร อันถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ มารดาย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกบุตรคืนจากบิดาได้
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น แม้มารดาจะตกลงยินยอมให้อยู่กับบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2543
โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น ดังนั้น จึงถือได้ว่าเด็กชาย จ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ดังนั้นอำนาจปกครองเด็กชาย จ. นั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง คือต้องอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยมิได้เป็นบิดาตามความหมายของมาตรา 1566 ดังกล่าว การตกลงระหว่างโจทก์จำเลยที่ให้เด็กชาย จ. อยู่ในความปกครองของจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันเป็นเหตุให้จำเลยมีอำนาจปกครองเด็กชาย จ. ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (6) จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของเด็กชาย จ. ให้อยู่กับตนตามมาตรา 1567 (1) ได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยส่งมอบเด็กชาย จ. คืนจากจำเลยตามมาตรา 1567 (4)
คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเพียงคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นจึงไม่เป็นคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ดังนั้น ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องแย้ง แม้โจทก์จะไม่ได้แก้ข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ให้การไว้ก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงนี้ตามที่จำเลยได้ให้การได้ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องยื่นคำให้การแก้คำให้การของจำเลย
ประเด็น ศาลมีคำสั่งให้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ยกขึ้นฏีกาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2523
โจทก์ฟ้องเรียกบุตรคืนเมื่อแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจำเลยไม่ได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรข้อเท็จจริงจึงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและได้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีที่มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากจำเลยหรือไม่ศาลมีอำนาจงดสืบพยานหลักฐานได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง
ข้อที่จำเลยฎีกาว่าขณะนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของบุตรทั้งจำเลยจดทะเบียนว่าเป็นบุตรแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ส่งบุตรคืน นั้น จำเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกามิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ประเด็น อ้างว่าดูแลบุตรได้ดีกว่า รับฟังไม่ได้ เพราะบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิใดๆในตัวบุตร
คำพิพากษาฎีกาที่ 16395/2557
ผู้เยาว์เป็นบุตรเกิดจากโจทก์ซึ่งเป็นหญิงที่มิได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1546 ให้ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้อ้างว่าเป็นบิดาของผู้เยาว์ แต่เมื่อผู้เยาว์มิได้เกิดจากบิดามารดาที่สมรสกัน การจะอ้างว่าผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อบิดามารดาสมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้มีลักษณะที่ปรากฏตามความดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่ ทั้งนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1547 ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียวผู้เดียว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองดูแลเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนผู้เยาว์แก่โจทก์ได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1567(1)และ(4) ที่โจทก์เป็นผู้กำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าดูแลผู้เยาว์ดีกว่าโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใดๆในตัวผู้เยาว์ไม่อาจอ้างเหตุเหนือสิทธิของโจทก์ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ได้
ประเด็น บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็น บุคคลอื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2541
บุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(4) หมายถึง บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งได้แก่ บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร จำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ จำเลยจึงไม่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ ตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) ถึง (4) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์ไว้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เป็นมารดาของผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้
ประเด็น บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย พาบุตรไปเลี้ยงดู ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517
บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น
มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คำวินิจฉัยที่ ยช.1/40 ฟ้องเรียกบุตรคืนโดยอ้างว่าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566,1567(1) ตามบรรพ 5 ถือว่าเป็นคดีครอบครัว
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. ปัญหาคือชนะคดีแล้ว ไปรับบุตรพร้อมเจ้าหน้าที่บังคดี แต่บุตรไม่ยอมมา เนื่องจากมีความผูกพันกับครอบครัวสามี อย่างนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเด็กได้ เพราะคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ หากต้องการพาบุตรมาต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวความและเด็กมาสอบถาม
2. บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่บุตร
3. การที่บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกับมารดาทำข้อตกลงกันว่าให้บิดาใช้อำนาจปกครองในวันจันทร์ถึงวันศุกร์และให้มารดาใช้อำนาจปกครองบุตรในวันเสาร์อาทิตย์นั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายให้ตกลงกันเช่นนั้นได้ ต่อมาเมื่อมารดาชอบด้วยกฎหมายประสงค์จะเรียกบุตรคืนจากบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือว่าเป็นผู้อื่นตามความหมายของมาตรา 1567 ที่กักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มารดาเรียกบุตรคืนได้
4. การกำหนดที่อยู่บุตร กล่าวคือ การอนุญาตให้บุตรไปพักอาศัยอยู่กับคนอื่นได้ เช่น ให้ปู่ย่าตายาย ไปเลี้ยง ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้าน เป็นต้น
5. บุคคลอื่น คือ ไม่ใช่บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
6. การเรียกบุตรคืน เป็นคดีแพ่ง ต้องใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น แต่อาจขอตำรวจไปช่วยไกล่เกลี่ยได้
7. หากยังดื้อแพ่ง สามารถจับขังได้ ตามคำสั่งศาล
8. การใช้สิทธิทางศาล บางกรณีก็อาจจบด้วยความรวดเร็ว แค่ได้รับหมายศาลเท่านั้น
9. ส่วนกรณีของพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสองฝ่ายนั้น ศาลอาจตัดสินให้บุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลยก็ได้ หรืออาจให้ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยแบ่งเวลาดูแลลูกกันตามสมควร
อัตราค่าบริการว่าความ คดีเรียกบุตรคืน
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท