คดีครอบครัว
Contact Us
Notice
คดีฟ้องหย่า
การสิ้นสุดการสมรส
1. ตาย
2. ศาลพิพากษาให้เพิกถอน เนื่องจากการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ
3. โดยการหย่า ซึ่งทำได้ 2 วิธี
3.1. โดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยการทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน การหย่าต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต
3.2. คำพิพากษาของศาล ต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายด้วย
เหตุที่จะฟ้องหย่ามี 12 ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ดังนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1517 เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นไม่ได้
เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตาม มาตรา 1516 (8) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บน เป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้
มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2692/2524
โจทก์จำเลยแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไปอยู่กับมารดา ไม่ยอมอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ เป็นการไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์เดือดร้อนเกินควร เข้าเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(6) แล้ว
ผลการหย่าต่อบุคคลภายนอก
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยทั่วไปไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า แต่หากคู่หย่าต้องการใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าด้วย
เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว บุคคลภายนอกจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าจะทำนิติกรรมกับคู่หย่าโดยสุจริตก็ตาม กรณีมีสัญญาประนีประนอมยอมความให้บันทึไว้ในท้ายทะเบียนการหย่าด้วย
ประเด็น ทรัพย์สิน
สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส เป็นต้น
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลหรือกำไรสุทธิของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เป็นต้น
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
สินส่วนตัว ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง
การแบ่งสินสมรส และการชำระหนี้
ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่าๆกัน
หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป
หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือจากสินส่วนตัวก็ได้
ประเด็น ค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพ ระหว่างคู่สมรส
ค่าทดแทน
เป็นเงินที่จำเลยในคดีฟ้องหย่าจ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่คู่สมรสฝ่ายโจทก์ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516(1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณีได้ หากตนมิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1)
นอกจากนี้ ถ้าเหตุแห่งการหย่าตาม มาตรา 1516 (3) (4) หรือ (6) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด
การกำหนดค่าทดแทนศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้
ค่าเลี้ยงชีพ
เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเมื่อมีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่ การฟ้องหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสที่ถูกฟ้อง หากการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสคู่สมรสที่เป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดในคดีหย่าจะต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งค่าเลี้ยงชีพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภายหลังได้แล้วแต่พฤติการณ์ ทั้งนี้ค่าเลี้ยงชีพมีลักษณะเฉพาะตัว สิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละ หรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
ประเด็น บุตร
การใช้อำนาจปกครองบุตร
ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยคำนึงถึงความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ และกฎหมายตาม มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส หากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้ เช่น ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เป็นต้น
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ศาลมีอำนาจกำหนดว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยพิจารณาจากความสามารถทางการเงินของทั้งสองฝ่าย แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใหม่ภายหลังก็ได้หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู นั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี
สิทธิในการติดต่อบุตร
คู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้หย่าย่อมมีสิทธิติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์
เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้อง
1. ใบสำคัญการสมรส พร้อมคำแปลภาษาไทย (กรณีจดทะเบียนสมรสต่างประเทศ)
2. ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว
3. ทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชนสามีภริยา
4. Passport พร้อมคำแปลภาษาไทย
5. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น
6. สูติบัตรบุตร (ถ้ามี)
7. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
8. บันทึกข้อตกลงการหย่า (ถ้ามี)
ค่าธรรมเนียมศาล
1. ค่าขึ้นศาล กรณีฟ้องหย่า อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะลี้ยงดูบุตร คดีละ 200 บาท
2. ค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท
3. ค่านำส่งหมายเรียกจำเลย 300 - 700 บาท
4. ค่าปิดประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท
5. คดีที่มีทุนทรัพย์ แบ่งสินสมรส เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 ไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท
เขตอำนาจศาล
ภูมิลำเนาจำเลย หรือมูลคดีเกิด กล่าวคือ สถานที่อยู่กินร่วมกัน
กรณีหย่ากับคู่สมรสชาวต่างชาติ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481
ภาค 5 ครอบครัว
มาตรา 27 ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า
ตัวอย่าง กฎหมายฟ้องหย่าแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland
PART I
DIVORCE, NULLITY AND OTHER MATRIMONIAL SUITS
Divorce
The court hearing a petition for divorce shall not hold the marriage to have broken down irretrievably unless the petitioner satisfies the court of one or more of the following facts, that is to say
(a) that the respondent has committed adultery and the petitioner finds it intolerable to live with the respondent
(b) that the respondent has behaved in such a way that the petitioner cannot reasonably be expected to live with the respondent
(c) that the respondent has deserted the petitioner for a continuous period of at least two years immediately preceding the presentation of the petition
(d) that the parties to the marriage have lived apart for a continuous period of at least two years immediately preceding the presentation of the petition (hereafter in this Act referred to as " two years' separation ") and the respondent consents to a decree being granted
(e) that the parties to the marriage have lived apart for acontinuous period of at least five years immediately preceding the presentation of the petition (hereafter in this Act referred to as " five years' separation ").
1. คู่สมรสคนใดคนหนึ่งมีชู้
2. พฤติกรรมส่วนตัวของคู่สมรสที่ทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ เช่น ทำร้ายร่างกาย หรือไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นต้น
3. การถูกทอดทิ้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี
4. การแยกกันอยู่เป็นระยะเวลา 2 ปี และอีกฝ่ายยินยอมในการหย่า เช่น อยู่กันคนละห้อง หรือคนละชั้น ตราบใดที่ทั้งคู่ไม่ได้ปฏิบัติต่อกันฉันท์สามีภรรยา
5. คู่สมรสแยกกันอยู่เป็นเวลา 5 ปี และอีกฝ่ายไม่ยินยอมหย่า
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. กรณีโจทก์ยากจนลงหลังจากหย่า สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ และย่อมหมดลงเมื่อสมรสใหม่ เว้นแต่อ้างเหตุหย่าสมัครใจแยกกันอยู่ ไม่สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4815/2539
2. ค่าเลี้ยงชีพ และค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
3. การแบ่งสินสมรส และค่าทดแทนความเสียหาย เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
4. การฟ้องหย่าในคดีที่มีบุตรผู้เยาว์ เมื่อยื่นฟ้องแล้วจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย โจทก์ บุตรผู้เยาว์ และพยาน 1 คน
5. การฟ้องหย่าคู่สมรสต่างชาติ ต้องมีการอ้างกฎหมายของประเทศที่สามีมีสัญชาตินั้นๆซึ่งกฎหมายอนุญาตให้หย่าได้ ไม่สามารถพิจารณาแค่กฎหมายของไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 หากไม่นำสืบศาลต้องพิพากษายกฟ้อง อีกทั้ง ต้องมาการแปลคำฟ้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาท้องถิ่นของคู่สมรสต่างชาติ โดยการดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของศาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท
อัตราค่าบริการว่าความ คดีฟ้องหย่า
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ฟ้องหย่า กรณีไม่มีบุตรด้วยกัน ไม่มีสินสมรสและหนี้สินร่วม |
-x- |
2
|
ฟ้องหย่า กรณีมีบุตรด้วยกัน อำนาจปกครองบุตร |
-x- |
3
|
ฟ้องหย่า กรณีมีสินสมรสและหนี้สินร่วมกัน |
-x- |
4 |
ฟ้องหย่า กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ (พร้อมแปลเอกสารภาษาไทย)
|
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท