Company Logo

Contact Us

Notice

   "การรับบุตรบุญธรรม มีตั้งแต่สมัยสมัยกรีกโรมัน โดยแนวคิดที่ว่ากฎหมายสามารถสร้างบุตรได้"    
    การรับบุตรบุญธรรม หมายถึง การรับลูกของคนอื่นมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นลูกของตัวเอง ซึ่งจะต้องจดทะเบียนจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/27
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4851/2538 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือมีข้อความแสดงความจำนงและยินยอมรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แต่ปรากฎว่าไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของเจ้ามรดก จึงไม่มีอำนาจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้
 
หลักเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำคัญ

1. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และจะต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/19

2. ผู้ที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรม ถ้าอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้

2.1 พ่อและแม่ หรือพ่อหรือแม่แล้วแต่กรณี หากพ่อหรือแม่ตายไปแล้ว หรือถูกถอนอำนาจปกครองไป ก็ต้องได้ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21

2.2 กรณีไม่มีผู้ให้ความยินยอมดังกล่าว หรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21 วรรคสอง

2.3 กรณีผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้ง และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา

3. ถ้าผู้เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะต้องให้ความยินยอมในการเป็นบุตรบุญธรรมด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/20

4. ถ้าผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสของตัวเองก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25 เว้นแต่ 

4.1 คู่สมรสไม่สามารถมาให้ความยินยอมได้ เช่น เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ

4.2 คู่สมรสนั้นไปเสียจากภูมิลำเนาของตัวเอง และไม่มีใครทราบข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาให้ความยินยอมได้ จะต้องไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้นเสียก่อน ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสย่อมไม่สมบูรณ์

5. การรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาเป็นบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมายื่นคำขอ พร้อมด้วยหนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังที่กล่าวมาข้างต้น ที่

5.1 ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในกรณีที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือประชาสงเคราะห์จังหวัด กรณีที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด

5.2 โดยอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี จะให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไปทำการทดลองเลี้ยงดูเด็กด้วยตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน(ตามพระราชบัญญัติ การรับด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522) ก่อนที่จะทำการอนุญาตให้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ยกเว้น กรณีผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายของผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรม ไม่ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว

6. ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว จะมาจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นซ้ำอีกในเวลาเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม (ป.พ.พ. มาตรา 1598/26)

7. พระภิกษุ จะรับบุตรบุญธรรมไม่ได้

 

หลักฐานเอกสาร

ฝ่ายผู้ขอรับเด็กบุตรบุญธรรม (สามี-ภริยา)

1. รูปถ่าย 4.5*6 C.m. (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) 2 รูป

2. บัตรประจำตัวประชาชน / PASSPORT

3. ทะเบียนบ้าน

4. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า

5. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ(ถ้ามี)

6. ใบมรณบัตร (กรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย)

7. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่า เป็นผู้มีร่างกายและจิตใจปกติ (ไม่เกิน 6 เดือน) และผลการทดสอบสภาพจิต

8. กรณีขอรับเด็กกำพร้าในความอุปการะเลี้ยงดูของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือผู้ขอมีอายุไม่เกิน 40 ปี และยังไม่มีบุตร ให้แสดงใบรับรองแพทย์ระบุสาเหตุของการไม่มีบุตร

9. เอกสารรับรองการทำงานและรายได้ หากผู้ขอทำงานในต่างประเทศ ให้ยื่นภาษาอังกฤษพร้อมแปลภาษาไทยที่ผ่านการรับรองการแปล

10. ภาพถ่ายสถานที่อยู่อาศัย แผนการเลี้ยงดูเด็ก และเอกสารรับรองทรัพย์สิน (เฉพาะกรณีขอรับเด็กกำพร้าในความอุปการะเลี้ยงดูของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)

11. หนังสือความเห็นชอบของบุตรของผู้ขอรับบุตรบุญธรรม กรณีบุตรผู้นั้นอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หากบุตรย้ายไปอยู่ที่อื่นต้องทำบันทึกเหตุที่ไม่สามารถติดต่อได้ด้วย

12. คำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาแทนคู่สมรส กรณีคู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือหาตัวไม่พบ

13. หนังสือยินยอมจากคู่สมรส

14. ผลตรวจประวัติอาชญากรรม

 

ฝ่ายบิดา-มารดาผู้มอบเด็กบุตรบุญธรรม

1. รูปถ่าย 4.5*6 C.m. (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) คนละ 2 รูป

2. บัตรประจำตัวประชาชน / PASSPORT

3. ทะเบียนบ้าน

4. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า พร้อมข้อตกลงการหย่าที่ระบุว่าฝ่ายใดเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร

5. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ(ถ้ามี)

6. ใบมรณบัตร (กรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย)

7. ทะเบียนรับรองบุตร (กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส)

8. พยานเพื่อสอบสถานภาพการสมรสของมารดาเด็ก จำนวน 2 คน พร้อมบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของพยาน โดยพยานจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป (กรณีที่บิดามารดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนและมารดาเด็กแจ้งว่าไม่สามารถติดตามบิดาเด็กได้)

9. คำสั่งศาลแสดงเจตนาให้ความยินยอมแทนบิดามารดาของเด็ก (กรณีบิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็ก ไม่สามารถมาแสดงตนและให้ความยินยอมตามแบบ บธ.6 ต่อหน้า พนักงานเจ้าหน้าที่)

10. กรณีที่มารดาเด็กอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้นำผู้แทนโดยชอบธรรม มาให้ความยินยอมในการมอบเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน

 

ฝ่ายเด็ก

1. รูปถ่าย 4.5*6 C.m. (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 2 รูป

2. สูติบัตร

3. บัตรประจำตัวประชาชน 

4. ทะเบียนบ้าน

5. หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

 

สถานที่ติดต่อ

» กรุงเทพมหานคร รวมทั้งชาวต่างประเทศ ไปติดต่อเพื่อยื่นคำขอได้ที่ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

» ต่างจังหวัด ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด 

 

ขั้นตอนในการติดต่อขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

1. ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐาน

2. ให้ผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป บิดาและมารดา บิดาหรือมารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม คู่สมรส (ถ้ามี) ไปแสดงตนต่อหน้านายทะเบียนอำเภอหรือเขต เพื่อแสดงความยินยอมในการจดทะเบียน

3. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและหลักเกณฑ์ต่างๆ เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ก็จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้ตามคำร้อง

4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมที่มีคู่สมรส ต้องนำคู่สมรสมาให้ความยินยอมด้วย

 

สิทธิและข้อควรทราบ

1. การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ไม่มีใบสำคัญออกให้ ถ้าต้องการหลักฐานให้การยื่นคำร้องให้ยื่นคำขอคัดสำเนาทะเบียน โดยเสียค่าธรรมเนียม 

2. เมื่อจดทะเบียนแล้ว ผู้รับบุตรบุญธรรมจะมีอำนาจปกครองบุตรบุญธรรม โดยมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของตนเอง

3. เมื่อจดทะเบียนแล้ว บิดามารดาโดยกำเนิดจะหมดอำนาจปกครองบุตรโดยผลของกฎหมายทันที (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28)

4. ผู้เป็นบุตรบุญธรรม มีสิทธิที่จะใช้ชื่อสกุล และมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้เป็นบุตรบุญธรรม

5. ผู้เป็นบุตรบุญธรรม มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย

6. จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกไม่ได้ เว้นแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดา กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครองบุตร

2. ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจผู้ให้ความยินยอม หรือกรณีบิดาหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผลสมควร ให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือผู้ที่จะขอรับบุตรบุญธรรม ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแทนการให้ความยินยอมก็ได้

3. ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน แต่ในกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น

 

ตัวอย่างคำร้อง (แทนการให้ความยินยอมของมารดาเด็กในการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม)

    ข้อ 1. ผู้ร้องทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานทะเบียน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2540 รายละเอียดปรากฎตามสำเนาใบสำคัญการสมรส เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1

    ผู้ร้องทั้งสองมีฐานะเป็นอาของเด็กชายน้อย ซึ่งผู้ร้องทั้งสองได้อุปการะเลี้ยงดูและส่งเสียให้เด็กชายน้อยได้เล่าเรียนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งรับเด็กชายน้อยมาอุปการะไว้ที่บ้านของผู้ร้องทั้งสองด้วยจนถึงปัจจุบันนี้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี รายละเอียดปรากฎตามสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องทั้งสองและของเด็กชายน้อย เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2,3 และ 4 ตามลำดับ

    ข้อ 2. ขณะนี้ นายใหญ่ ซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายน้อย ได้ยินยอมยกเด็กชายน้อย ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ร้องทั้งสองแล้ว แต่นางเล็ก มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายน้อย ได้หายสาบสูญและไม่เคยติดต่อกลับมาเลย จึงไม่อาจขอรับความยินยอมโดยชอบจากนางเล็กได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงขอประทานเสนอต่อศาลที่เคารพ ขอศาลได้โปรดไต่สวนและมีคำสั่งให้ความยินยอมแทนนางเล็ก ในการที่ผู้ร้องทั้งสองจะรับเด็กชายเล็ก เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ร้องทั้งสองด้วย เพื่อความเจริญก้าวหน้าของเด็กชายน้อยต่อไป

    ข้อ 3. ผู้ร้องทั้งสองมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย และไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ขอศาลได้โปรดอนุญาต

                                            ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

                   ลงชื่อ                                                       ผู้ร้องทั้งสอง

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้าว่าที่ร้อยตรีธนู กุลอ่อน ทนายความผู้ร้องทั้งสอง เป็นผู้เรียงและพิมพ์

                  ลงชื่อ                                                        ผู้เรียงและพิมพ์

 

 

อัตราค่าบริการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

 

 

ลำดับ

 

รูปแบบคดี

 

 

ราคา(บาท)

 

1

 

ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาล

 

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.