Company Logo

Contact Us

Notice

คดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 

หลักเกณฑ์ ลูกหนี้ที่อาจถูกฟ้องล้มละลาย 

กรณีเจ้าหนี้ทั่วไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 คือ

1 ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

2 ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ส่วนนิติบุคคลต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ไม่ว่าเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน

3 ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

 

กรณีเจ้าหนี้มีประกัน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 10(ภายใต้บังคับมาตรา 9) คือ

1 มิได้เป็นผู้ต้องห้าม มิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ

2 กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท

 

การยื่นคำฟ้องขอลูกหนี้ให้ล้มละลาย

1 ยื่นคำฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง

2 ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ยื่นต่อศาลจังหวัดซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต

 

ค่าธรรมเนียมศาล : โจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาล เป็นจำนวน 5,000 บาท

 

ขั้นตอนการดำเนินคดี หลังจากศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา

1 ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบองค์ประกอบที่จะถูกฟ้องคดีล้มละลายหรือไม่ 

» ถ้าเห็นว่าครบ ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

» หากคุณสมบัติไม่ครบองค์ประกอบหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะยกฟ้องทันที (มาตรา 14)

ระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของเจ้าหนี้และก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้อาจมีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในการโยกย้ายทรัพย์สินไป เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้ ซึ่งศาลจะทำการไต่สวนโดยทันที เมื่อเห็นว่าคดีมีมูลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว วิธีการนี้เป็นการลดทอนความเสียหายของเจ้าหนี้ได้ในระดับหนึ่ง

3 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าไปดูแล ควบคุม กิจการหรือทรัพย์สิน หรือสิทธิต่างๆแทนลูกหนี้ทันที รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่ง การฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย โดยลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เอกสารต่างๆเกี่ยวทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นจริงด้วย มิฉะนั้น ต้องรับโทษอาญาปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล

เจ้าหนี้อื่นอาจแจ้งขอรับชำระหนี้ ในคดีล้มละลายร่วมด้วยตามประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งศาลจะมีกำหนดเวลาไว้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดมีสิทธิในการเข้าเฉลี่ยรับคืนหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย จากนั้นจึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาว่าควรยอมรับคำขอประนอนหนี้ของลูกหนี้(กรณีลูกหนี้ยื่นเรื่องขอประนอมหนี้) หรือ ควรให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย รวมทั้งวิธีจัดการทรัพย์สินด้วย

ศาลจะทำการไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเพื่อทราบฐานะทางการเงิน เหตุผลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ความประพฤติ จากนั้นจึงมีการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าควรเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือไม่

หลังจากศาลพิจารณาเห็นชอบกับการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับแล้ว จะเริ่มกระบวนการจัดการทรัพย์สินตามข้อตกลงนั้นทันที หากลูกหนี้บิดพลิ้วไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในการประนอมหนี้หรือทำการถ่วงเวลาโดยไม่มีเหตุอันควรหรือมีเจตนาทุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใด ย่อมมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เช่นกัน

 

กรณีต่อไปนี้ ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย (มาตรา 61)

1 เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวถัดไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

2 ไม่ลงมติประการใด

3 ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม

4 การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ โดยให้ถือว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผลหลังจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

 

แนวทางการปฏิบัติของลูกหนี้

1 ลูกหนี้ต้องขอให้เจ้าพนักงานกำหนดเงินเลี้ยงชีพและหากมีรายได้ในอนาคต ต้องนำส่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้

2 การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน

3 ลูกหนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตเป็นหนังสือ แม้แต่การย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งให้ทราบด้วย

 

วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

1 การประนอมหนี้ได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน

2 ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามมาตรา 135 เช่น หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว หรือหลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้ายหรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้ว ต่อแต่นั้นมาภายใน 10 ปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้ขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก หรือเจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น

3 ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย

4 ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดา และหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต

 

รวบรวม คำถามยอดนิยม

1 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  หากลูกหนี้ต้องการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะต้องทำอย่างไร?
ตอบ ต้องขออนุญาตจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

 

2 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว หากลูกหนี้ต้องการค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะต้องทำอย่างไร?
ตอบ เสามารถขอค่าเลี้ยงชีพต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป

 

3 การปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายจะปลดเมื่อใด ?

ตอบ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายจะปลดจากการล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
1 บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้วและยังไม่พ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี
2 บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม ข้อ 3 ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี  เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนด 10 ปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
3 บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี
ในกรณีที่มีเหตุตาม ข้อ (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว

 

4 เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจะมีผลบังคับ ถึงทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรของลูกหนี้หรือไม่ ?

ตอบ การฟ้องคดีล้มละลายเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่มีผลบังคับแก่ทรัพย์สินของคู่สมรส หรือบุตร ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรสก็จะมีผลบังคับเฉพาะในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้เท่านั้น

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 Link ตรวจสอบบุคคลล้มละลาย https://www.egov.go.th/th/e-government-service/158/

2 ในระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ลูกหนี้สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าหนี้ได้ เพื่อไม่ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

 




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.