Company Logo

Contact Us

Notice

“ขาย คือ ทรัพย์แลกของ

แลกเปลี่ยน คือ ของแลกของ

ให้ คือ ของแลกน้ำใจ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

 

คดีฟ้องขอถอนคืนการให้

การให้ คือ สัญญาซึ่งผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ซึ่งจะถอนการให้ไม่ได้ เว้นแต่เหตุผู้รับเนรคุณ

 

ความสมบูรณ์ : ต่อเมื่อ "ส่งมอบทรัพย์สินให้"

» อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม หรือตึกแถว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

» ที่ดินมือเปล่า สมบูรณ์ด้วยการส่งมอบ เพราะถือว่าผู้ให้ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินแล้ว

» การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ทางสาธารณะ หรือที่ดินสำหรับสร้างวัด ย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามเจตนาของผู้อุทิศทันที โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

 

อายุความ : ผู้ให้ต้องยังไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้น และต้องฟ้องถอนคืนการให้ภายใน 6 เดือนนับแต่เมื่อทราบถึงเหตุประพฤติเนรคุณ แต่ไม่เกิน 10 ปี ภายหลังเหตุการณ์ประพฤติเนรคุณนั้น

 

การให้ที่ไม่สามารถที่จะฟ้องขอเพิกถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณ ได้แก่

1 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณแล้ว

2 เมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ฟ้องคดีไว้ ทายาทจะฟ้องเองไม่ได้

3 ให้เป็นบำเเหน็จสินจ้างโดยแท้ (ตอบแทนการทำงาน)

4 ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

5 ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามหน้าที่ศีลธรรม

6 ให้ในการสมรส

7 เมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ได้ทราบเหตุเนรคุณ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เหตุเนรคุณนั้นเกิดขึ้น

 

ค่าธรรมเนียมศาล : ร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ (ราคาประเมิน)

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น อายุความ การบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ยากไร้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 388/2536

    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 บัญญัติว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้...(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ และมาตรา 533 บัญญัติว่า...หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุ - เช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าในชั่วชีวิตของโจทก์จะขอสิ่งจำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีวิตของโจทก์จากจำเลยได้เพียงครั้งเดียว การขาดแคลนสิ่งจำเป็นเพื่อเลี้ยงชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้โจทก์ย่อมขอสิ่งเหล่านั้นจากจำเลยได้เสมอตามความจำเป็นและจำเลยยังสามารถให้ได้ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้เงินแก่โจทก์นำไปรักษาตัวเนื่องจากเจ็บป่วยก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่โจทก์ยากไร้และชราภาพโดยมีอายุถึง 84 ปี และจำเลยอยู่ในฐานะจะให้เงินแก่โจทก์ได้ จึงเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินจากจำเลยได้โดยคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2341/2537

    การกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ให้และเป็นผู้ยากไร้เมื่อจำเลยสามารถจะให้ได้นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ขอสิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตต่อจำเลยแล้ว จำเลยบอกปัดไม่ยอมให้และเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมิได้นำสืบและอุทธรณ์ในข้อนี้แสดงว่าจำเลยยอมรับ และมิใช่หน้าที่ศีลธรรมอันดีของผู้รับการให้จะพึงปฏิบัติต่อผู้ให้ด้วยการให้สิ่งตอบแทนแก่ผู้ให้ตามวิสัยแต่อย่างใดดังนั้น การที่โจทก์แยกไปอยู่กับ ซ. แล้วจำเลยไม่ตามไปเลี้ยงดูโจทก์ จะฟังว่าจำเลยแสดงเจตนาบอกปัดไม่ยอมเลี้ยงดูให้สิ่งของจำเป็นแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยสามารถให้ได้อันเป็นการประพฤติเนรคุณที่จะเรียกถอนคืนการให้หาได้ไม่

 

ประเด็น ทำร้ายร่างกาย และดูหมิ่น

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 412/2528

    การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553

    ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า "อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว" เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้

    ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6424/2557

    จำเลย(บุตร)ได้ยักยอกเงินโจทก์(บิดา) ไป จำนวน 7,000,000 บาท เมื่อโจทก์ได้ไปพูดทวงเงินคืน จำเลยได้พูดด่าทอว่าโจทก์ต่อหน้าผู้อื่นว่า "ไอ้แก่ แก่แล้วเลอะเลื่อน" เป็นการด่าว่าโจทก์ผู้เป็นบิดา โดยไม่ให้ความเคารพนับถือยำเกรง เป็นถ้อยคำที่หยาบคายแสดงถึงการเหยียดหยามไม่นับถือว่าโจทก์เป็นบิดา เพราะใช้คำว่า "ไอ้แก่" ถือได้ว่าเป็นถ้อยคำที่หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531(2)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559

   จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

 

ประเด็น การให้โดยธรรมจรรยา จะถอนคืนการให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 104/2502

   มารดายกที่ดินและห้องทั้งหมดให้โจทก์ผู้เป็นบุตรและสั่งให้แบ่งที่ดินและห้องบางส่วนให้จำเลยซึ่งเป็นหลานด้วยโจทก์ก็แบ่งยกให้ตามที่มารดาสั่งดังนี้ถือว่าเป็นการยกให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาโจทก์จะถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณี ดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้ เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาท ผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว 6 เดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่

    อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 10 ปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น

มาตรา 538 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 หากผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้บุคคลอื่นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และมิใช่โดยเสน่หา ก่อนที่จะมีเหตุให้ผู้ให้ถอนคืนการให้ การคืนที่ดินย่อมตกเป็นพ้นพิสัย ผูัรับต้องรับผิดชอบคืนดอกผลของที่ดินและต้องใช้ราคาที่ดินเต็มราคาแก่ผู้ให้

2 การถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ ได้เฉพาะผู้ให้เท่านั้น จะขอถอนคืนการให้เหตุเนรคุณกับผู้รับโอนจากผู้ให้ไม่ได้

3 ผู้ให้เท่านั้นที่จะบอกเพิกถอนคืนการให้ สามีหรือภรรยาของผู้ให้ที่เพียงให้ความยินยอมจะขอเพิกถอนการให้ไม่ได้

4 การให้ที่มิใช่โดยเสน่หา แต่เป็นการให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จะถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณไม่ได้

5 การฟ้องคดี ต่อศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่

 

           

อัตราค่าบริการว่าความ คดีเพิกถอนคืนการให้ โดยเสน่หา   

           

 

ลำดับ

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี 

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.