คดีแพ่ง
Contact Us
Notice
พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว ดังนั้น การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้
พินัยกรรม แบบธรรมดา มีหลักเกณฑ์ และข้อกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันพึงต้องปฏิบัติ ดังนี้ *สำคัญมาก*
1 ทำด้วยตนเอง และต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์
2 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต โดยคำสั่งศาลแล้ว แต่กรณีเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
3 ไม่ได้ถูกข่มขู่ สำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล
4 ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรม ตลอดรวมถึงคู่สมรส จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้
5 พินัยกรรมแบบพิมพ์ จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับหรือลงแกงไดไม่ได้
6 ต้องเป็นทำหนังสือ ลงวัน / เดือน / ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม หากไม่ลงเป็นโมฆะ
7 ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
8 พยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น
9 การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ มีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนอื่นย่อมบังคับได้อยู่
10 ผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตน
คุณสมบัติของพยานในพินัยกรรม
1 บรรลุนิติภาวะ
2 ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3 ไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง 2 ข้าง
4 พยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลงแกงได หรือใช้ตราประทับไม่ได้
ตัวอย่าง ทรัพย์สินที่ "ไม่ใช่มรดก" เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้น "หลัง" จากที่เจ้ามรดกตาย
» เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
» เงินชดเชย
» สิทธิในการได้รับจากเงินประกันชีวิต
» สิทธิเบิกเงินกู้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร
» เงินบำนาญพิเศษ ตามพรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494
หมายเหตุ
หากผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมตกไป และทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1698(1) และ 1699
กรณีพินัยกรรม ตกเป็นโมฆะ
» พินัยกรรมทำโดยผู้มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์
» พินัยกรรมที่ทำขึ้นอันขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ไม่ได้ทำตามแบบ
» การตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเอง โดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลภายนอกข้อกำหนด
» พินัยกรรมซึ่งกำหนดตัวบุคคล ซึ่งไม่ทราบตัวแน่นอนเป็นผู้รับพินัยกรรม
» พินัยกรรมระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ชัดเจนไม่อาจทราบได้แน่นอนได้ หรือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกำหนดให้มากน้อยตามแต่ใจเขา
» พินัยกรรมทำโดยผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ถ้าทำขึ้นโดยผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต ซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ พินัยกรรมจะเสียเปล่าต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าทำในเวลาที่วิกลจริต
เอกสารแนบท้าย/ประกอบการเขียนพินัยกรรม
1 ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ทำ
2 ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับ
3 บัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน
4 เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สมุดเงินฝากธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน เป็นต้น
5 หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น คู่สมรสไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมเกินส่วนในสินสมรสของตน
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 505/2509
บุคคลจะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายได้ก็ แต่เฉพาะทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายในทรัพย์สินของคนอื่นไม่ได้ หากเป็นทรัพย์สินที่สามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินบริคณห์ให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตน
แม้ในพินัยกรรมจะปรากฏข้อความว่า "เพื่อมิให้ยุ่งยากจึงให้นางจ้อยภริยาของข้าพเจ้าเป็นพยานยกให้ด้วย" และภริยาได้พิมพ์ลายมือไว้ในช่องพยานด้วยก็ตาม ก็ไม่ใช่ในฐานะผู้ทำพินัยกรรม หากเป็นเพียงพยานรับรู้ว่าสามีได้ทำพินัยกรรมจริงเท่านั้น แม้จะถือว่าภริยายินยอมให้สามีทำพินัยกรรมพินัยกรรมก็ไม่มีผลผูกพันถึงสินบริคณห์ส่วนของภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2501
สามีโจทก์ผู้ทำพินัยกรรมจะเอาส่วนสินสมรสของโจทก์ไปทำยกให้ผู้อื่นไม่ได้
ประเด็น การฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรม
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 306/2507
พินัยกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบ โดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยาน 2 คนนั้น มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พินัยกรรมฉบับนั้นย่อมเป็นโมฆะ
พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรมป่วยมาก แม้จะพูดไม่ได้ แต่ถ้ายังมีสติสมบูรณ์ดีใช้กริยาแสดงออกตอนอ่านพินัยกรรมให้ฟัง เมื่อเห็นด้วยหรือตรงกับเจตนาของตนก็พยักหน้า ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ตรงกับเจตนาก็ส่ายหน้า เช่นนี้ ฟังได้ว่าพินัยกรรมนั้น ทำขึ้นโดยผู้ตายและเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับหลัง ถ้าไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้จนเป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
พินัยกรรมที่คู่สมรสของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานย่อมเป็นโมฆะเสียไป เฉพาะผู้รับพินัยกรรมผู้นั้นเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมคนอื่นๆ นั้นยังคงสมบูรณ์อยู่
พินัยกรรมที่ผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมตามมาตรา 1671 ด้วยนั้น หาเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา 1705 ไม่ได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ
ประเด็น กรณีการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ "ชาวต่างชาติ"
กรณีผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ลูกหรือสามีซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนการจะถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 คือ ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อถือกรรมสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน หากไม่ได้รับอนุญาต ก็จะต้องถูกบังคับขายภายใน 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
การทำพินัยกรรมมีผลดีตรงที่สามารถระบุให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินแล้วนำเงินมามอบให้แก่ผู้รับพินัยกรรมได้ เพราะผู้จัดการมรดกสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนทายาทได้ และสามารถดำเนินการจดทะเบียนขายแทนได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ดินให้ยุ่งยาก
คำพิพากษาศาลฎีกา 475/2511
ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้ พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรม เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511)
ประเด็น ไม่ได้ลงชื่อต่อหน้าพยานพร้อมกัน 2 คน เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2517
ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานเพียงคนเดียว ส่วนพยานอีกคนหนึ่งมาถึงและลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อแล้วประมาณ 5 นาที แม้ว่าขณะนั้นผู้ทำพินัยกรรมและพยานจะยังอยู่พร้อมหน้ากัน ก็ถือว่าพินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656
ประเด็น ผู้ทำพินัยกรรม พิมพ์ลายนิ้วมือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2534
อ. ทำพินัยกรรมโดยพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ค. และ ล. พร้อมกัน ส่วน บ. ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมภายหลัง เมื่อ ค. และ ล. ลงลายมือชื่อในฐานะพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ อ. ในขณะที่ทำพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงมีพยานครบ 2 คน มีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656
ประเด็น พินัยกรรมปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556
การทำพินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรม จึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1656 พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้
มาตรา 1670 บุคคลต่อไปนี้ จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
(2) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้
(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
(4) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป
มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี
มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ
มาตรา 1704 พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ
พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 ควรถ่ายคลิป Video ไว้ด้วยในการเซ็นชื่อในพินัยกรรม
2 การที่ทายาทฟ้องเพิกถอนพินัยกรรม เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ตามราคาทรัพย์ที่สามารถตีราคาเป็นเงินได้ ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
อัตราค่าบริการจัดทำร่างพินัยกรรม
|
||
ลำดับ
|
รายการ |
ราคา(บาท) |
1
|
พินัยกรรม แบบธรรมดา ฉบับละ (กรณีภาษาต่างประเทศ ไม่รวมค่าแปลเอกสาร)
|
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท