Company Logo

Contact Us

Notice


DBDTLG2

 

ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้กลับจดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทคืนสู่ทะเบียน

   ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน เนื่องจากมิได้ทำการค้าหรือประกอบกิจการ และไม่ได้นำส่งงบการเงินต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทในทุกๆปี ติดต่อกันเกิน 3 ปี จะกลายเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้าง ผลคือสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่นายทะเบียนขีดชื่อออก ทำให้ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอีกต่อไป

  เมื่อประสงค์กลับคืนสู่ทะเบียน กรรมการหรือผู้ถือหุ้นจะต้องให้ทนายความจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน

 

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

1. ห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน

2. บริษัท กรรมการ ผู้ถือหุ้น

3. เจ้าหนี้ (กรมสรรพากร)

 

เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตได้ ดังนี้

1. ในขณะที่ถูกขีดชื่อออก ยังทำการค้าขายหรือยังประกอบกิจการอยู่ตามปกติ

2. เพื่อความยุติธรรม เช่น บริษัทมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ต้องการจดทะเบียนเลิกบริษัท ตั้งผู้ชำระบัญชี หรือเจ้าหนี้ต้องการฟ้องร้องบังคับคดี เป็นต้น (เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลที่กว้างขวาง)

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท / ห้างหุ้นส่วน

2. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(ฉบับยื่นไว้ล่าสุด)

3. รายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วน

4. คำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด เรื่อง ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทออกจากทะเบียน

5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการ / หุ้นส่วน

6. หนังสือให้ความยินยอมของกรรมการ / หุ้นส่วน / ผู้ถือหุ้น 

7. เอกสารยืนยันการดำเนินกิจการ เช่น ใบกำกับภาษีซื้อขาย ใบแจ้งหนี้ ใบส่งของ ใบเสร็จรับเงิน สัญญาว่าจ้าง เป็นต้น

8. รายการทรัพย์สินของนิติบุคคล (ถ้ามี) เช่น โฉนดที่ดิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ บัญชีเงินฝาก เป็นต้น

9. หลักฐานสิทธิเรียกร้องบุคคลภายนอก (ถ้ามี) เช่น เช็ค สัญญารับสภาพหนี้ เป็นต้น

10. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าส่งสำเนาให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 260 บาท หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตามอัตราของศาล

3. ค่าประกาศโดยวิธีลงโฆษณาผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ E-Notice system ฟรี

4. ค่าส่งสำเนาให้กรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล ตามอัตราค่าป่วยการของศาล

 

ขั้นตอนการนำส่งคำสั่งศาลให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จดชื่อกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน

เอกสารประกอบ จำนวนอย่างละ 1 ชุด

1. สำเนาคำสั่งศาล พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

2. สำเนาหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด พร้อมเจ้าหน้าที่ศาลรับรอง

3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

   ภายหลังการยื่นเรื่อง 1 สัปดาห์ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแก้ไขสถานะนิติบุคคลให้ โดยจะระบุว่า "คืนสู่ทะเบียน"

 

สถานที่ยื่น

1. ต่างจังหวัด สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด

2. สำหรับเขตพื้นที่ กทม. ต้องยื่นตามเขตพื้นที่ จำนวน 6 ที่ และกองทะเบียนธุรกิจ ชั้น 9 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

   ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้น จะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น รัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆคน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง

   การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้

   โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550

   บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1273/4 ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใดๆของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น รู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่า ในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใดๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่นๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

   การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. คำร้องในการเริ่มคดีอย่างไม่มีข้อพิพาทหรือฝ่ายเดียว

2. เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้อง ผู้ร้องต้องวางเงินค่าประกาศหนังสือพิมพ์ให้ทราบโดยทั่วกัน สำเนาให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ณ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และกรรมการผู้มีอำนาจของนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้น ตามภูมิลำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อให้คัดค้าน

3. ในทางไต่สวนต้องได้ความว่าผู้ร้องเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้น ซึ่งในระหว่างนายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทนั้นยังคงประกอบการอยู่ตลอดมา เช่น สัญญาจ้างกำหนดช่วงระยะเวลาไว้ ใบเสร็จรับเงิน หลักฐานประกอบกิจการกับบริษัทคู่ค้า เป็นต้น

4. เมื่อศาลมีคำสั่งตามขอ หลังจากนั้น 1 เดือนจึงคัดคำสั่งศาล เพื่อนำไปให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายต่อไป

5. นายทะเบียนเมื่อได้รับคำสั่งศาลแล้ว จะมีคำสั่งกลับจดทะเบียนคืนเข้าสู่ทะเบียน และแก้ไขข้อมูลรายการทะเบียนในหนังสือรับรอง พร้อมกับนำคำสั่งจดชื่อคืนสู่ทะเบียนส่งไปลงประกาศราชกิจจานุเบกษา 

6. เสนอคำร้องต่อศาลจังหวัดที่นิติบุคคลมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่

7. ระยะเวลาในการดำเนินการ 3 - 4 เดือน

8. Link Website ประกาศถอนทะเบียนร้างและคืนสู่ทะเบียน https://www.dbd.go.th/more_news.php?cid=47

 

 

อัตราค่าบริการว่าความ คดีจดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน 

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำร้องต่อศาล

 

-x-

 

2

 

 

ยื่นเรื่องต่อนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.