Company Logo

Contact Us

Notice

การขอพิจารณาคดีใหม่

คือ กรณีศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี โดยขาดนัดพิจารณา(ไม่ได้ไปศาล) แล้วต่อมาจำเลยมาศาลภายหลังจากศาลตัดสินคดีแล้ว

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 199 จัตวา คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น

    คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

 

จำเลยมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลา ดังนี้

1 กรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับส่งคำบังคับตามคำพิพากษา

2 กรณีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่พฤติการณ์สิ้นสุดลง

3 อย่างไรก็ตาม ห้ามยื่นคำขอต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษา หรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ยังไม่สิ้นสุดลง

 

» พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เช่น จำเลยไปอยู่ต่างประเทศ หรือจำเลยปล่อยบ้านให้ผู้อื่นเช่า ไม่ทราบว่าตนถูกฟ้อง เป็นต้น

 

การบรรยายคำขอ ต้องกล่าวโดยชัดแจ้ง ดังนี้

1 เหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

2 ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ

3 ในกรณียื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย

 

การไต่สวน

1 ถ้าโจทก์ไม่ค้านคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ศาลสั่งให้งดการไต่สวน และมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้

2 การไต่สวนคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่จำต้องไต่สวนถึงเนื้อหาของคดีว่า รูปคดีนั้น จำเลยจะชนะคดีหรือไม่

3 การงดการบังคับคดีไว้ก่อน เป็นดุลพินิจของศาล

 

ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต เมื่อปรากฏว่า

1 มีเหตุควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้น มิใช่เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และ

2 ศาลเห็นว่า เหตุผลที่อ้างมาในคำขอนั้น ผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ และ

3 ในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้านั้น ผู้ขอได้ยื่นภายในเวลาที่กำหนด

 

ผลของคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ มีผลทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นๆ ของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ในคดีเดียวกันนั้น และวิธีการบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว แล้วให้ศาลพิจารณาคดีนั้นใหม่ ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยให้จำเลยยื่นคำให้การ ภายในกำหนดเวลาที่ศาลเห็นสมควร

    ดังนั้น ในคดีที่ได้มีการบังคับคดีไปแล้ว การบังคับคดีนั้น ก็ต้องเพิกถอนไปในตัว

 

» คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ให้เป็นที่สุด

» กรณีไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ และคำสั่งศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน ไม่ถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2544

   จำเลยเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 213 จังหวัดชลบุรี ตามฟ้องและจำเลยมีที่อยู่ทางทะเบียน ณ บ้านดังกล่าวตลอดมา การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยรวมทั้งหมายนัดสืบพยานโจทก์ ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ บ้านดังกล่าว แต่จำเลยไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มากกว่า 10 ปีแล้ว โดยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 518/136 กับ บ้านเลขที่ 81/6 และไปๆ มาๆ ระหว่างบ้าน 2 หลังนี้โดยไม่ได้กลับไปที่บ้านเลขที่ 213 อีกเลย แต่ยังมิได้ย้ายทะเบียนออกจากบ้านหลังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง ดังนี้ แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยโดยการปิดหมายไว้ ณ บ้านเลขที่ 213 ดังกล่าว จะเป็นการส่งโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาว่าการส่งหมายเป็นไปโดยชอบหรือไม่กับปัญหาว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้องนี้ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอของจำเลย

 

ประเด็น คดีฟ้องหย่า เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ฐานะโจทก์จำเลยต้องกลับคืนมาเป็นสามีภริยาตามกฎหมายดังเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558

    เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

    โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

    โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 จำเลยต้องส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์ และเจ้าพนักงานบังคับคดี 

2 ในคดีผู้บริโภค จำเลยในฐานะผู้บริโภคต้องเสียค่านำหมายด้วย

 

 

อัตราค่าบริการว่าความคดี ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่

 

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ยื่นคำร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.