คดีแพ่ง
Contact Us
Notice
คดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้า
สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ดังนี้
» ผู้ขาย มีสิทธิ - หน้าที่ คือ รับชำระราคา โอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง รอนสิทธิ ข้อสัญญายกเว้นความรับผิด
» ผู้ซื้อ มีสิทธิ - หน้าที่ คือ รับมอบสินค้า ชำระราคา จัดการรับโอนกรรมสิทธิ์
สิทธิของผู้ซื้อ กรณีผู้ขายผิดสัญญา
ผู้ซื้อย่อมบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกมัดจำ หรือเงินชำระหนี้บางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา และอาจเรียกค่าเสียหายด้วยก็ได้
สิทธิของผู้ซื้อ ในกรณีผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ขาดตกบกพร่อง หรือล้ำจำนวน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 465
» ส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ : บอกปัดเสียไม่รับเอาเลย หรือจะรับไว้และใช้ราคาตามส่วน
» ส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ : รับไว้แต่เพียงตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือบอกปัดเสียไม่รับเอาเลยทั้งหมด หรือรับไว้ทั้งหมดและใช้ราคาตามส่วน
» ส่งมอบทรัพย์สินระคนกับทรัพย์ที่กำหนดในสัญญา : รับไว้เฉพาะตามสัญญา นอกนั้นบอกปัดเสีย หรือหรือบอกปัดเสียทั้งหมดก็ได้
การรับผิดของผู้ขาย หากทรัพย์ที่ขายนั้น ชำรุดบกพร่อง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 472-473
กรณีทรัพย์ที่ส่งมอบถูกต้องแล้ว แต่มีความชำรุดบกพร่อง
ความชำรุดบกพร่องอันผู้ขายต้องรับผิด ต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดก่อน หรือขณะทำสัญญาซื้อขาย ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่
ลักษณะของความชำรุดบกพร่อง ที่ผู้ขายต้องรับผิด ในกรณีดังนี้
1 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เช่น สีของรถยนต์ไม่เหมือนกันตลอดทั้งคัน เบาะที่นั่งไม่ตรงตามแบบของรุ่น เป็นต้น
2 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เช่น อาหารที่ซื้อขายมีสารปนเปื้อน เป็นต้น
3 การชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์มุ่งหมายโดยสัญญา เช่น พระเครื่องมีตำหนิและมีการซ่อมแซมใหม่ให้เหมือนเดิม เป็นต้น
อายุความ (นับแต่วันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง)
1 ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญา 10 ปี
2 ซื้อไปใช้เอง 2 ปี
3 ซื้อไปเพื่อดำเนินกิจการ 5 ปี
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น สิทธิเรียกร้องเริ่มนับตั้งแต่ฝ่ายผู้ซื้อยอมรับสินค้าไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2014/2542
สินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ต้องจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ แล้วนำไปติดตั้งในสถานที่ของจำเลย ทั้งต้องมีการทดสอบการใช้ระยะหนึ่ง โจทก์นำสินค้าไปติดตั้งให้และดำเนินการแก้ไขให้สมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย โดยจำเลยลงลายมือชื่อรับสินค้าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่ซื้อขายติดตั้งเรียบร้อยและผ่านการทดสอบว่าใช้งานได้ดีและจำเลยยอมรับมอบสินค้านั้นแล้ว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536
ประเด็น ตามราคาที่ตกลงกันไว้ แม้น้อยกว่าราคาตลาด จะปฏิเสธไม่ขายไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 308/2507
ผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อขาย ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ขายโอนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นได้ในราคาที่ซื้อขายกันเดิม ถ้าราคาเดิมนั้นเป็นราคาที่ไม่น้อยเกินสมควร ผู้ขายจะปฏิเสธไม่ยอมโอนโดยอ้างว่าราคาที่ทรัพย์สินในขณะฟ้องนั้นสูงขึ้นมากหาได้ไม่
ประเด็น ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขายกัน ก็สามารถฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555
ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า "...หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..." ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ประเด็น อายุความฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาซื้อขาย 10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่
การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ประเด็น อายุความกรณีซื้อไปใช้ 2 ปี แต่ถ้าซื้อไปเพื่อกิจการ 5 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2551
กรณีที่ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี นั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติยกเว้นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของกำหนดอายุความดังกล่าวไว้ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นโดยให้พิจารณาถึงกิจการของฝ่ายลูกหนี้เป็นสำคัญ กรณีใดจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่
จำเลยที่ 1 ซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์นำไปจำหน่ายหรือนำไปผสมเป็นคอรกรีตผสมเสร็จจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ
มาตรา 465 ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น
(1) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับเอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
(2) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
(3) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นอันมิได้รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้
มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 กรณีกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด เกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ใช้บังคับได้ แต่ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร
2 หากไม่ได้ตกลงกัน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี
3 ค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 ของจำนวนที่เรียกร้อง
4 เขตอำนาจศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิด กล่าวคือ สถานที่ซื้อขาย
5 เอกสารสำคัญประกอบการยื่นคำฟ้อง คือ ใบวางบิล หรือหลักฐานการโอนเงิน
6 กรณีซื้อขายสินค้า เพื่อนำมาขายต่อ ไม่ถือว่าเป็นคดีผู้บริโภค ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
อัตราค่าบริการว่าความ คดีผิดสัญญาซื้อขายสินค้า
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท