คดีแพ่ง
Contact Us
Notice
ปัจจุบัน อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทางสำนักงานฯจึงขอนำเสนอบทความทางกฎหมาย
การเรียกร้องค่าเสียหาย ในส่วนคดีแพ่ง
กรณีไม่ตาย อ้างอิง ป.พ.พ. มาตรา 438 441 443 446
1. ค่าซ่อมรถ ค่าเสื่อมราคารถค่าลากจูงรถค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถ
2. ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงในอนาคตด้วย หากมีการรักษาต่อเนื่อง
3. ค่ากายภาพบำบัด
4. ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น หน้าเสียโฉม แขนขาพิการ หรือใช้การได้ไม่เป็นปกติ เป็นต้น
5. ค่าขาดรายได้ ที่ต้องหยุดงาน
กรณีตาย อ้างอิง ป.พ.พ. มาตรา 443 444 445 446
1. ค่าปลงศพ ตามประเพณีและฐานะ เช่น ค่าเผาศพ ค่าโลงศพ ค่าพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
2. ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ เช่น ค่าอาหารเลี้ยงแขก ค่าเช่าศาลาวัด ค่าเงินถวายพระ ค่าดอกไม้ ค่าหนังสือ ค่าของชำร่วย เป็นต้น
3. ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย แม้จะเบิกได้ หรือได้รับส่วนลด อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2258/2527 806/2533
4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย เช่น ช่วงที่รักษาพยาบาลก่อนตาย ทำงานไม่ได้ เป็นต้น
5. ค่าขาดไร้อุปการะ
6. ค่าขาดแรงงานในครอบครัว อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 567/2538
ค่าความเศร้าโศกเสียใจ --- เรียกร้องไม่ได้
ประกันภาคบังคับ มี 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 คือ ค่าเสียหายเบื้องต้น
- บาดเจ็บ วงเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
- ทุพพลภาพ 35,000 บาท/คน
- บาดเจ็บต่อมาทุพพลภาพ ไม่เกิน 65,000 บาท/คน
- เสียชีวิต ค่าปลงศพ 35,000 บาท/คน
- เสียชีวิตจากภายหลังรักษาพยาบาล 65,000 บาท/คน
ส่วนที่ 2 คือ เมื่อมีสรุปผลคดี หรือมีคำพิพากษาของศาล จ่ายเงินตามกรมธรรณ์ที่คุ้มครองไว้
บุคคลคู่กรณี : ผู้ขับขี่ นายจ้าง เจ้าของรถ บริษัทประกัน
อายุความ
1. ฟ้องคนขับขี่ นายจ้าง : 1 ปีนับแต่วันรู้ตัวผู้กระทำผิด หรือ 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด
2. ฟ้องบริษัทประกัน : 2 ปี
การรับโทษ ในส่วนคดีอาญา อ้างอิง ป.อ. มาตรา 290 300 390
1. กรณีรับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง หากมีการบรรเทาผลร้ายหรือความเสียหายด้วย ศาลก็จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อเป็นเหตุแห่งการรอการลงโทษ ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษจำคุก แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ หรือศาลอาจกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการคุมประพฤติ เช่น ให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นเวลากี่ชั่วโมง หรือศาลอาจกำหนดในคำพิพากษาห้ามขับรถภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
2. กรณีชนกันธรรมดา ไม่มีคนบาดเจ็บหรือคนตาย มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว มีโทษ ปรับไม่เกิน 1000 บาท ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43(4)
3. ความผิดทางอาญาในข้อหานี้เป็นความผิดยอมความไม่ได้
ตัวอย่างคดีคำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น โจทก์ต้องบรรยายคำฟ้องให้ชัดเจน ในส่วนของกรมกรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2551
ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ก่อเหตุ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปตามถนนด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถชนทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า แม้โจทก์แนบตารางกรมธรรม์ประกันภัยไว้ท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ในฐานะใด หรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับ จ. ผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้ ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่า ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างไร และไม่อาจต่อสู้คดีของโจทก์ได้ การบรรยายฟ้องในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญ มิใช่รายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา เพราะโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 คำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
ประเด็น ค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2551
สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2533 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นโดยเจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย โดยประกันภัยกับบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและต้องเสียเบี้ยประกันภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย ส่วนสิทธิของผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เกิดจากการเป็นผู้ประกันตนและออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 46 สิทธิของผู้ประสบภัยและสิทธิของผู้ประกันตนจึงเป็นสิทธิตามกฎหมายต่างฉบับ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและกองทุนประกันสังคมก็แตกต่างกัน การก่อให้เกิดสิทธิจากเบี้ยประกันภัยกับเงินสมทบและการจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิได้รับแตกต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละฉบับ กฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีบทบัญญัติมิให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายอื่น แล้วมารับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือประโยชน์ทดแทนอีก
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชน เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ม. อันเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนด แม้โรงพยาบาล ม. เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นค่าเสียหายเท่าที่จ่ายจริงจากบริษัท ว.ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ม. ได้รับจึงเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 แต่จำเลยยังมิได้ให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นค่าบริการทางการแพทย์ (ค่ารักษาพยาบาล) จากกองทุนประกันสังคม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 58, 59 แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โจทก์
ประเด็น การอ้างรายงานการสอบสวนของเจาหน้าที่ตำรวจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2551
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหัวลากและรถพ่วง ในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปจอดบริเวณไหล่ทางในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นเหตุให้ ส. ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนได้รับความเสียหาย โจทก์คงมี ส. เบิกความกล่าวอ้างลอยๆว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เปิดไฟของรถยนต์ไว้ โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง ประกอบกับในคดีอาญา ส. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ก็ให้การรับสารภาพว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 จนได้รับความเสียหาย และมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่เกิดเหตุ และให้ความเห็นจากการตรวจที่เกิดเหตุ และแผนที่เกิดเหตุประกอบกันว่า เหตุเกิดเพราะความผิดของฝ่ายใด มิใช่พยานบอกเล่า รับฟังได้
ประเด็น โทษจำคุก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3189/2530
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กรรมต่างวาระกัน รวมจำคุก 7 ปีและปรับ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยบทหนักกรรมเดียว จำคุก 1 ปี 6 เดือน เช่นนี้ เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมโดยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น หากแต่จำเลยพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับผิดมาแต่ต้นขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์เป็นการคัดค้านดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดโทษจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว.
ประเด็น การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ผู้ตายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ไม่มีส่วนประมาทด้วย)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559
เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 444 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดีเป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีก็ได้
มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปี 1 นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
มาตรา 20 เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ ให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้ประสบภัย
ความเสียหายที่จะให้ได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นการร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. การเรียกร้องดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด
2. ค่าซ่อมรถส่วนใหญ่ บริษัทประกันของฝ่ายเรา จะรับช่วงสิทธิจากเราไปฟ้องอีกที
3. ในคดีอาญา ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์รวมกับอัยการ และขอเรียกบริษัทประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ เพื่อเรียกค่าเสียหายได้ ในดคีอาญาโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ไม่สามารถเรียกนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ต้องยื่นฟ้องคดีแพ่งอีกต่างหาก
4. นอกจากความผิดทางอาญาแล้ว ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดทางแพ่งด้วย เรียกว่า คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยผู้เสียหายสามารถนำคดีอาญาที่ยุติแล้วไปเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้เลย ไม่ต้องนำสืบเรื่องประมาทอีก แต่ถ้าคดีอาญาผลคำพิพากษาไม่มีความผิดประมาท ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะนำมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งได้ เพียงแต่ต้องนำสืบถึงความประมาทด้วย
5. จำนวนค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ ศาลจะใช้ดุลยพินิจกำหนด
อัตราค่าบริการว่าความ คดีรถชน
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง เรียกค่าเสียหาย |
x |
2
|
ต่อสู้คดี |
x |
3
|
ยื่นคำเรียกร้อง สถาบันอนุญาโตตุลาการ คปภ. บริษัทประกันภัย
|
x |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท