Company Logo

Contact Us

Notice

    มรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ตาย ซึ่งผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ถึงแก่ความตาย เว้นแต่ว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

    ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สิน และแบ่งมรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับ 

 

ผู้จัดการมรดก มีที่มา 2 ทาง : ตามพินัยกรรมระบุไว้ หรือโดยคำสั่งศาล

 

ทายาทโดยธรรม มี 6 ลำดับ

1. ผู้สืบสันดาน รวมทั้งบุตรที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์

2. บิดามารดา

3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4. พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

5. ปู่ ย่า ตา ยาย

6. ลุง ป้า น้า อา

สำหรับสามีภริยา ต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น

 

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

» ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกจริงๆ หรือผู้รับพินัยกรรม

» ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น

» พนักงานอัยการ

 

คุณสมบัติผู้จัดการมรดก

1. บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์

2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

3. ไม่เป็นคนล้มละลาย

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง

1. เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

2. มรณบัตร

3. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สมุดเงินฝากธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน เป็นต้น

4. บัญชีเครือญาติ

5. หนังสือยินยอมให้เป็นผู้จัดการมรดกจากทายาท

6. พินัยกรรม (ถ้ามี)

7. หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3. ค่าปิดประกาศแจ้ง ณ ภูมิลำเนาผู้ตายหรือที่ว่าการอำเภอ ตามอัตรานำหมายของศาล 300 - 700 บาท

 

ระยะเวลาในการดำเนินการ

    เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว จะนัดไต่สวนคำร้องประมาณ 2 เดือน หลังจากไต่สวนคำร้องเสร็จ 1 เดือน ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อใช้ดำเนินการต่อไป

 

เขตอำนาจศาล

1. ตามภูมิลำเนาของเจ้ามรดก

2. ถ้าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศ ให้ไปศาลทีทรัพย์ตั้งอยู่

 

อำนาจของผู้จัดการมรดก

   ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

   หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้

 

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง ดังนี้

1. จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ภายใน 15 วัน และต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากไม่เสร็จก็สามารถขออนุญาตต่อศาลขยายระยะเวลาอีกได้

 » บัญชีทรัพย์มรดก ต้องมีพยานรับรอง 2 คน โดยต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย

 » ต้องประกอบด้วย รายการแสดงทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง เงิน มูลค่า และแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ เป็นเงินรวมเท่าใด

 » ถ้ามิได้จัดทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

2. ต้องจัดการทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปันมรดกแก่ทายาททั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งตั้ง โดยจำนวนเสียงข้างมากของทายาท หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

3. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนเสียงข้างมากจะได้กำหนดไว้

4. จะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล

5. ต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง

6. ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใดๆ หรือประโยชน์อื่นใดอันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย

7. ต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสีย และแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร     

8. ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก

9. ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็วโดยชำระหนี้กองมรดก(ถ้ามี)เสียก่อน

 

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

1. ตาย

2. ลาออก ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ

3. ศาลมีคำสั่งถอน

4. ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น

5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ต้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก จึงจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2525

    ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึง ทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

 

ประเด็น ผู้จัดการมรดกหลายคน ไม่สามารถจัดการได้โดยลำพัง ต้องร่วมกันจัดการโดยถือตามเสียงข้างมาก หากเท่ากันให้ศาลชี้ขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2542

     โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาทจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายชนะคดีและได้มีการบังคับคดีในเวลาต่อมา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ กรณีเป็นเรื่องมีผู้จัดการมรดกหลายคน โจทก์ทั้งสามแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2คัดค้านคำร้อง ของ โจทก์ที่ 3 ที่ขอให้งดการบังคับคดีกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1726 โจทก์ที่ 3 ไม่อาจกระทำได้โดยลำพัง

 

ประเด็น ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน (แม้จะโดยพินัยกรรมก็ตาม) ต่อมายังจัดการไม่เสร็จสิ้น คนหนึ่งคนใดเสียชีวิต คนที่เหลือจะจัดการมรดกต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ และถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งศาล ทางแก้ไขคือ ต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเดิม เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553

    แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 461/2514

    ศาลตั้งให้โจทก์กับ อ. เป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม เมื่อ อ. ตาย โจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินการจัดการมรดกต่อไปตามลำพังไม่มีอำนาจเบิกเงินกองมรดกจากธนาคาร โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว

 

เหตุขอถอดผู้จัดการมรดก และตั้งผู้จัดการมรดกแทน

1. ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ เช่น มิได้ทำบัญชีทรัพย์ให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทในเวลาที่สมควร

2. เพราะเหตุอย่างอื่น เช่น ปกปิดทายาทต่อศาล หรือไม่ติดตามหาทายาทของเจ้ามรดก หรือผู้จัดการมรดกคิดค่าจ้างในการจัดการมรดกเป็นจำนวนมากอันส่อไปในทางทุจริต หรือประมาทเลินเล่อ เป็นต้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3936/2528

   ในการร้องขอสั่งถอนผู้จัดการมรดก เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดก ยังมีปัญหาข้อแย้งกันอยู่ว่าจะแบ่งตามคำพิพากษาหรือตาม สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งทายาทบางคนลงชื่อ ทั้งการ แบ่งทั้ง 2 ประการก็ผูกพันเฉพาะทายาทบางคนที่เป็นคู่ความ ตามคำพิพากษาและทายาทที่ลงชื่อในสัญญาการจัดการมรดก จึงยังไม่เสร็จสิ้นผู้จัดการมรดกจะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปัน ให้แก่ทายาทซึ่งมิได้เป็นคู่ความตามคำพิพากษาและมิได้ลงชื่อเป็น คู่กรณีในสัญญาประนีประนอมยอมความการที่จะสั่งถอนผู้จัดการมรดก ในขณะนี้จึงไม่ชอบ

 

อายุความคดีจัดการมรดก

ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกิน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

   เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา 1731 ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

มาตรา 1733 วรรค 2 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

 

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

กรณีผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. เงื่อนไขในคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ต้องแถลงว่ามีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง และมีเหตุขัดข้องในการจัดการอย่างไร

2. ผู้เหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดก จะเป็นใครก็ได้ แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นก็ได้ ถ้าหากมีการคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก โดยส่วนมากแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน

3. ชาวต่างชาติ สามารถยื่นคำร้องขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดข้อยุ่งยากในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2541

4. สามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์มรดก สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2520

5. นิติบุคคล เช่น มูลนิธิ สามารถร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3166/2529 1127/2524

6. ผู้จัดการมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่หากตั้งหลายคนแล้วเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ไม่เป็นผลดีต่อกองมรดก ศาลอาจตั้งแค่คนเดียวก็ได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 204/2530

7. ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้ามรดก สามารถยื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้ ในฐานะตัวแทนโดยชอบธรรมของบุตรที่บิดาให้การรับรองแล้ว อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538

8. กรณีพินัยกรรมระบุผู้จัดการมรดกไว้ ให้ศาลตั้งตามนั้น แต่ศาลก็ยังสามารถใช้ดุลพินิจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมเป็นผู้จัดการมรดกได้ด้วย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7033/2557

9 หากผู้ตายไม่มีบุตร ผู้ร้องต้องแถลงต่อศาลด้วยว่า ผู้ตายมีรับใครเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่?

 

                             

                              อัตราค่าบริการว่าความ คดีตั้งผู้จัดการมรดก                                                                                    

 

ลำดับ

 

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

 

ขอตั้งผู้จัดการมรดก กรณีมี/ไม่มีพินัยกรรม 

ายาทให้ความยินยอม   

 

 -x-

 

2

 

 

ขอตั้งผู้จัดการมรดก กรณีทายาทคัดค้าน    

 

 -x-

 

3

 

 

คัดค้านขอตั้งผู้จัดการมรดก                                      

 

-x-

 

4

 

 

 

ถอดถอนผู้จัดการมรดก เพื่อตั้งตนเป็นแทน    

หรือผู้จัดการมรดกขอลาออกเอง             

 

 -x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.