คดีแพ่ง
Contact Us
Notice
คดีเช่าซื้อรถยนต์ หรือ "ลิสซิ่ง"
ในปัจจุบัน คดีไฟแนนซ์ฟ้องผู้เช่าซื้อมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการมีเช่าซื้อรถยนต์กันมาก ด้วยเหตุจูงใจหรือเหตุผลจำเป็นของแต่ละคน แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ไหว ทางสำนักงานฯ ขอคลายข้อสงสัยผ่านการถาม-ตอบในแง่กฎหมาย ดังนี้
คำถาม ข้อ 1. ขาดผ่อนรถกี่งวด เขาถึงจะมาถึงรถได้?
ตอบ 3 งวดติดกัน ทางไฟแนนซ์จะมีหนังสือบอกใช้ชำระหนี้อีก 30 วัน ดังนั้นรวมแล้วประมาณ 4 เดือน
คำถาม ข้อ 2. ผ่อนต่อไม่ไหว จะบอกเลิกสัญญาได้ไหม?
ตอบ ผู้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ถ้ายังไม่คืนรถ ถึงแม้จะบอกเลิกสัญญาก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2530
คำถาม ข้อ 3. รถยนต์หายในระหว่างผ่อนชำระ ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดอยู่ไหม?
ตอบ ยังต้องรับผิดอยู่ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2535
โดยในสัญญา ไฟแนนซ์มักจะเขียนไว้ให้ต้องรับผิด แม้จะสูญหาย หรือเสียหายโดยเหตุสุดวิสัย
คำถาม ข้อ 4. ค่าขาดประโยชน์ กล่าวคือ ค่าใช้รถยนต์หลังผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไหม เพียงใด?
ตอบ ต้องรับผิด ซึ่งไฟแนนซ์สามารถเรียกร้องได้ ในระหว่างที่รถยนต์อยู่ในความครอบครองของผู้เช่าซื้อ โดยนับตั้งแต่วันผิดนัด จนถึงวันที่ได้รับรถยนต์คืน อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1960/2545
แต่ค่าขาดประโยชน์ ไม่ถือเป็นหนี้ค้างชำระ จึงไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ แม้สัญญาจะระบุไว้ก็ตาม อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2532
คำถาม ข้อ 5. ค่าติดตามยึดรถ ค่าทวงถาม ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ไฟแนนซ์สามารถเรียกได้ไหม?
ตอบ ได้ ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ที่สมเหตุสมผล
คำถาม ข้อ 6. การยึดรถ มีขั้นตอนตามกฎหมายอย่างไร?
ตอบ ผู้เช่าซื้อจะต้องค้างชำระ 3 งวดติดต่อกัน และอีก 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว รวมเป็น 4 เดือน ไฟแนนซ์จึงจะสามารถติดตามยึดรถคืนได้
A ถ้ายึดก่อนสัญญาสิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อมีสิทธิไม่คืนรถให้ได้ การยึดรถต้องเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อให้ยินยอมเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากถูกยึด ผู้เช่าซื้อควรถ่ายรูปหรือคลิปวิดิโอไว้ แล้วนำไปแจ้งความต่อตำรวจไว้เป็นหลักฐาน เพราะไฟแนนซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เว้นแต่จะตกลงกันในสัญญา ระบุผิดนัดเพียงงวดเดียวสามารถบอกเลิกสัญญาได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3842/2526
ถ้ามีการบังคับขู่เข็ญใดๆ จากผู้ติดตามยึด ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309
B ถ้าติดตามยึดรถคืน หลังสัญญาสิ้นสุดลง ไฟแนนซ์สามารถเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคารถยนต์ ค่าขาดประโยชน์ได้ เพราะถือว่าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำถาม ข้อ 7. ไฟแนนซ์ยึดรถยนต์ไปขายทอดตลาด แล้วมีราคาที่ยังขาดอยู่ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดไหม เพียงใด?
ตอบ ยังต้องรับผิดอยู่ ในส่วนของค่าขาดราคารถยนต์ แต่เป็นจำนวนที่ขาดจากราคารถยนต์ที่แท้จริง มิใช่ ราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่
แต่ในทางปฏิบัติ ไฟแนนซ์ซื้อมักจะฟ้องมาเท่ากับจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อในสัญญาที่ยังขาดอยู่ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5363/2545
เมื่อไฟแนนซ์ได้รับรถคืน ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้เช่าซื้อนำรถไปคืนเอง หรือถูกตามยึดรถได้ เมื่อไฟแนนซ์นำรถไปขายทอดตลาด (ซึ่งต่ำกว่าราคาในท้องตลาดมาก) หากได้เงินเกินกว่าหนี้ ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ประกอบด้วย ค่างวดส่วนที่เหลือ ค่าปรับ ค่าทวงถาม ค่าติดตามยึดรถ ค่าขายทอดตลาด ไฟแนนซ์จะคืนเงินส่วนที่เกินให้ แก่ผู้เช่าซื้อ (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก) แต่หากได้ราคาน้อยกว่าหนี้ส่วนที่ขาดตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำ(ถ้ามี) จะต้องรับผิดชำระเงินส่วนต่างที่ขาดอยู่
แต่ไฟแนนซ์ ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ
A ก่อนขาย ไฟแนนซ์ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ค้ำประกัน ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ สามารถซื้อรถยนต์คืนได้ในราคาที่ค้างชำระ
B หลังจากขายแล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบว่า ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ราคาเท่าไหร ยังเหลือหนี้อยู่อีกเท่าไหร หรือขายได้กำไรกี่บาท ภายใน 15 วัน นับจากวันขายทอดตลาด
ถ้าไม่แจ้งให้ทราบตามกฎหมาย ก็เรียกค่าเสียหายค่าขาดราคารถไม่ได้ ยกเว้นจะระบุไว้ในสัญญา
คำถาม ข้อ 8. ค่าขาดราคารถยนต์นั้น คิดคำนวณจากอะไร ?
ตอบ ศาลจะคิดคำนวณจากราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อในราคาตลาดในขณะที่ขาย หักด้วยค่างวดค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่จ่ายมาแล้ว หักด้วยราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อที่ขายทอดตลาดได้
คำถาม ข้อ 9. การเรียกค่าขาดประโยชน์ มีอายุความกี่ปี?
ตอบ 10 ปี อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2576/2546
คำถาม ข้อ 10. การเรียกให้ชำระราคาส่วนที่ขาดทุน โดยมิได้เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อายุความกีปี?
ตอบ 10 ปี ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2546 8879/2547
คำถาม ข้อ 11. การเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ มีอายุความกี่ปี?
ตอบ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33(6) อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่3358/2530
คำถาม ข้อ 12. เมื่อสัญญาเลิกกัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดหรือไม่?
ตอบ ไม่รับผิด อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2543
คำถาม ข้อ 13. เมื่อสัญญาเลิกกัน ดอกเบี้ย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบเพียงใด?
ตอบ ไฟแนนซ์เรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก แม้สัญญาจะกำหนด 15 ต่อปี ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญา อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2535 7812/2540 1713/2546
คำถาม ข้อ 14. หลังจากแพ้คดีแล้ว ไฟแนนซ์สามารถบังคับคดีได้อย่างไรบ้าง?
ตอบ ถ้าผู้เช่าซื้อ มีทรัพย์สินในนามของตน ก็จะถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรืออายัดเงินเดือนได้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีได้ และก็ไม่ติดคุก เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา
คำถาม ข้อ 15. ผู้ตามยึดรถ ข่มขู่จะยึดรถ และเรียกค่าติดตามทวงถาม โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากไฟแนนซ์ มีความผิดฐานใด?
ตอบ มีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2557
คำถาม ข้อ 16. ผู้เช่าซื้อมีสิทธิที่จะนำรถยนต์ไปขายดาวน์ต่อให้บุคคลอื่นได้ไหม?
ตอบ ได้ ตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2550
คำถาม ข้อ 17. หากผู้ซื้อดาวน์นำรถไปขายต่อหรือนำรถหนี้หาย ไม่ยอมผ่อนต่อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ไหม?
ตอบ ได้ ทั้งคดีแพ่งหรือร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551
คำถาม ข้อ 18. กรณีผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปจำนำโดยไม่คิดจะผ่อนต่อ หรือขายขาดแก่บุคคลอื่น สามารถทำได้ไหม?
ตอบ ไม่ได้ เพราถือว่าเป็นความผิดข้อหายักยอกทรัพย์ กรณีผู้รับจำนำ ยังมีความผิดข้อหารับของโจรอีกด้วย อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2548 7727/2544
คำถาม ข้อ 19. ในระหว่างกันผ่อนชำระ ผู้ให้เช่าซื้อที่สิทธิของตรวจดู เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่สมควร ได้ไหม?
ตอบ ได้ ตามสิทธิที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ มาตรา 555
คำถาม ข้อ 20. ถ้าผู้เช่าซื้อผิดสัญญา เงินที่ชำระไป สามารถขอคืนบ้างได้ไหม?
ตอบ ไม่ได้ เพราะไฟแนนซ์มีสิทธิริบไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574
คำถาม ข้อ 21. หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว ไฟแนนซ์พาคนมายึดรถเราในที่สาธารณะโดยใช้กุญแจสำรอง ถือว่าละเมิดไหม?
ตอบ ไฟแนนซ์มีสิทธิสามารถทำได้ แต่จะมาปีนเข้ามาในบ้าน หรือยื้อยุดฉุดกระชากเราไม่ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของ โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 คราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญา เพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงิน ได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555
ข้อ 3 ในประกาศนี้
(4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้น ภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น
(5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อ และกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น
ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (10)
ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องมีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน เวลา สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (ถ้ามี) รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ในกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขาย
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. เมื่อได้เงินขายทอดตลาดมาไม่เพียงพอกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ไฟแนนซ์จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้เช่าซื้อ ซึ่งมักเรียกมา Over เกินจริงมาก แนะนำให้แต่งตั้งทนายสู้คดี ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาให้ไม่เกิน 50%
2. ในการพิสูจน์ค่าเสียหายในคดีเช่าซื้อ ค่าขาดประโยชน์ ต้องมีพยานบุคคลที่เคยเช่ารถจากผู้อื่น มาเบิกความต่อศาลยืนยันในเรื่องค่าเช่า แต่ส่วนมากโจทก์ก็จะอ้างว่าสามารถเอาออกให้คนอื่นเช่าได้ในแต่ละเดือนเป็นเงินเท่ากับค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งผู้เช่าซื้อสามารถโต้เถียงได้ว่าไม่ใช่ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ของโจทก์ ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจลดให้ได้ตามสมควรในค่าเสียหายส่วนนี้ แม้เราไม่สู้คดี
3. ค่าติดตามยึดรถ ต้องมีหลักฐานการชำระเงินค่ายึดรถ และผู้ยึดรถ ต้องมาเบิกความต่อศาล ก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลตามสมควร
4. ความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายในตัวรถ จะต้องมีภาพถ่ายที่เห็นชัดเจนมาส่งศาล บิลค่าซ่อมหรือค่าเปลี่ยนอะไหล่และต้องมีช่างมาเบิกความต่อศาล
5. การลากจูงรถยนต์ที่เช่าซื้อ เนื่องจากใช้การไม่ได้ ต้องมีใบเสร็จค่าลากจูงมาส่งศาล
อัตราค่าบริการว่าความคดีเช่าซื้อรถยนต์
|
||
ลำดับ
|
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ต่อสู้คดี เช่าซื้อ ค้ำประกัน |
-x- |
2
|
เจรจาต่อรองการผ่อนชำระกับไฟแนนซ์ |
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท