Company Logo

Contact Us

Notice

คดีบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อ O/D

    บัตรเครดิต (Credit Card) คือ บริการสินเชื่อ ซึ่งเป็นเงินที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ให้บริการ ได้ออกทดรองจ่ายไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินในภายหลัง โดยเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีจากสมาชิก สำหรับการฟ้องร้องคดีมีเป็นจำนวนมากในชั้นศาล

• มูลคดีการฟ้องร้อง ณ ภูมิลำเนา(ตามทะเบียนบ้าน) ของผู้ใช้บริการบัตรเครดิต

 

   โดยคดีหนี้บัตรเครดิต ไม่จำต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมดทันที ดังนั้น คดีบัตรเครดิตโดยทั่วไป เมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว ครั้นถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระ อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป เว้นแต่ เป็นกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ หรือชำระหนี้ให้บางส่วน เป็นต้น 

 

«อายุความ»

1. บัตรเครดิตทั่วไป มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้งวดสุดท้าย กล่าวคือ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้

2. หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล มีอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่ผิดนัดชำระครั้งสุดท้าย (สัญญากู้ยืมที่มีการผ่อนต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ)

3. หนี้วงเงินเบิกเกินบัญชี(OD)หรือสัญญาบัญชีเดินสะพัด มีอายุความ 10 ปี นับแต่เลิกการหักทอนบัญชี (วันที่หยุดการเดินบัญชีเข้า–ถอนเงินออก)

 

    ลูกหนี้ส่วนมากเข้าใจว่า เมื่อหนี้ขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้ฟ้องไม่ได้ก็จบกัน หรือถ้าฟ้อง ศาลก็คงจะไม่รับคำฟ้อง เพราะขาดอายุความ แต่ความจริงแม้หนี้จะขาดอายุความไปแล้ว แต่เจ้าหนี้ก็สามารถยื่นฟ้องได้ 

    การที่จะให้ศาลหยิบยกเอาเรื่อง การขาดอายุความขึ้นมาพิจารณานั้น ลูกหนี้จะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง และถ้าหากเป็นจริงตามที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การ ศาลก็จะมีคำพิพากษา"ยกฟ้อง" ตามมาตรา 193/29 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้"

 

การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 ดังนี้

1. ขาดอายุความเรื่องอะไร

2. ขาดอายุความเมื่อใด

3. เพราะเหตุใด

 

ข้อสังเกตุ

    หนี้ที่มีการซื้อขายและโอนสิทธิเรียกร้อง ระหว่างธนาคารกับบริษัทรับบริหารหนี้เสีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่หมดอายุความแล้วทั้งสิ้น

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น คดีบัตรเครดิต อายุความ 2 ปี เริ่มนับแต่วันถัดไปจากวันที่กำหนดในใบแจ้งยอดหนี้งวดสุดท้าย (ผิดนัดชำระหนี้งวดสุดท้าย T+1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2547

    จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 และชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2539 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ทั้งหมดทันที โดยไม่ต้องมีการทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป

    จำเลยที่ 2 ใช้บัตรเสริมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิตกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2540 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่จำต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาก่อน อายุความสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเริ่มนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป

    โจทก์มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยออกบัตรให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตร โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง ซึ่งโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป จึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)

    ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน ศาลจึงพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้

 

ประเด็น อายุความ + การรับสภาพหนี้ โดยการหักบัญชีเงินฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551

    หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้

    การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

 

ประเด็น ลูกหนี้ชำระหนี้ หลังคดีขาดอายุความ ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีขาดอายุความเช่นเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551

   ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

   จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

   ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247

 

ประเด็น ธนาคารหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551

   การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

 

ประเด็น คดีสินเชื่อส่วนบุคคล อายุความ 5 ปีนับแต่วันผิดนัดชำระครั้งสุดท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2553

   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2548 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

 

ประเด็น คดีหนี้วงเงินเบิกเกินบัญชี(OD) มีอายุความ 10 ปี นับแต่เลิกการหักทอนบัญชี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2540

    จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นข้อตกลงที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัดต่อกัน มีกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2526ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 20 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 และหลังจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมา ทั้งยอดหนี้ในวันครบกำหนดสัญญาก็มีจำนวนสูงกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา ประกอบกับสัญญาครบกำหนดแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีอันแสดงว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก แม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 1 ครั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530 แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชี เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนไม่

    การที่จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 23เมษายน 2530 เป็นการรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา193/14 (มาตรา 172 เดิม) และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน2530 เป็นต้นไป หนี้รายนี้เป็นบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2537 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

    แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

 

ประเด็น บัตรเครดิตถูกลักขอโมยไปใช้ซื้อสินค้า เจ้าของบัตรไม่ต้องรับผิดชอบถือเป็นความบกพร่องธนาคารเองแม้จะมีข้อตกลงให้เจ้าของบัตรต้องรบผิดชอบ ก็ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวนั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552

   ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี

(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออก ทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่างๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี

(1) ดอกเบี้ยค้างชำระ

(2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ

มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนด 10 ปี

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้

 

คำแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ดอกเบี้ยค้างชำระและค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 28 ต่อปี

2. เมื่อยกเลิกบัตรเครดิตแล้ว ตามกฎหมาย ธนาคารไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับหรือค่าทวงหนี้ใดๆ อีกต่อไป มีบรรทัดฐานในคำพิพากษา ได้มีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า เมื่อสัญญาบัตรเครดิตสิ้นสุดลง คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 ส่วนธนาคารมีสิทธิเพียงคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สมควร ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณาให้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี 

3. เมื่อลูกหนี้แพ้คดีในชั้นศาลแล้ว มีเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าเงินเดือนเกินมีสิทธิถูกอายัดเงินเดือน แต่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้กำหนดจำนวนเงินใหม่ได้ โดยศาลจะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานะทางครอบครัว จำนวนบุพการีและผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยจะต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน ตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา 286 (2) (3) ตามลำดับ หากศาลลดจำนวนเงินอายัดน้อยไป ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ตามวรรคท้าย

4. เมื่อลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายหนึ่งอายัดเงินเดือนแล้ว ห้ามมิให้อายัดซ้ำ ตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา 290 แต่เจ้าหนี้บัตรรายอื่นมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้

5. ถ้าลูกหนี้ไม่อยากให้ถูกอายัดเงินเดือน ลูกหนี้ต้องไปตกลงกับสถาบันการเงินนอกรอบ โดยทำเป็นหนังสือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการอายัดเงินเดือนไว้ชั่วคราวตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา 292 (3)

6. การตกลงชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือการถูก อายัดเงินเดือนต้องคอยตรวจสอบยอดเงินที่ค้างชำระสม่ำเสมอ เพราะเคยมีหลายคดีที่อายัดเงินจากลูกหนี้เกินยอดหนี้ตามคำพิพากษา

7. กรณีธนาคารฟ้องคดีที่หมดอายุความ จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอสืบพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24

8. คดีหนี้วงเงินเบิกเกินบัญชี(OD) ควรต่อสู้ในประเด็นดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ดอกเบี้ยทบต้น และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน 

9. ประวัติการค้างชำระหนี้มีผลต่อการกู้ยืมเงินในอนาคตแน่นอน  และชื่อของท่านอยู่ในเครดิตบูโร(Credit Bureau) เป็นเวลา 3 ปี

 

                           

อัตราค่าบริการว่าความคดีบัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัญชี OD         

                                                                                      

 

ลำดับ             

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

 

ต่อสู้คดีบัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัญชี O/D

กรณี ฟ้องหมดอายุความ

 

-x-

   

2    

        

 

รับเจรจาต่อรองการผ่อนชำระกับทางโจทก์ 

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน

นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท     




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.