คดีแชร์
แชร์ หมายความว่า การลงหุ้นเป็นจำนวนเงิน และตามวาระที่กำหนดและประมูลว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร ผู้ลงหุ้นที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินเดือนก่อนหมุนเวียนไปจนครบจำนวนผู้เล่น
การเล่นแชร์ หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตั้งวงแชร์โดยผูกพันว่า สมาชิกวงแชร์แต่ละคนจะส่งเงินจำนวนเท่าๆ จำนวนเดียวกันหรือหลายจำนวนตามงวดที่กำหนด ที่จนรับภาระไว้ให้แก่นายวงหรือผู้รับผิดชอบรวมกัน เป็นเงินก้อนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกวงแชร์ ซึ่งได้รับเลือกตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่วงแชร์นั้นกำหนด
นายวงแชร์ / ผู้จัดการแชร์ / ท้าวแชร์ หมายถึง บุคคลผู้จัดรวบรวมเงินแชร์ อีกทั้งมักจะเป็นผู้คิดริเริ่ม ผู้ก่อตั้งวงแชร์
ลูกแชร์ หมายถึง บุคคลผู้เป็นสมาชิกวงแชร์ มีหน้าที่ส่งชำระเงินแชร์ และมีสิทธิใชการประมูลเพียงครั้งเดียวต่อหุ้น
การประมูล / เปีย หมายถึง การใช้ราคาสูงสุดในการแข่งขันราคา
ดอกแชร์ ไม่อยู่ในบังคับแห่งคำว่า ดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงสามารถจะให้ดอกแชร์สูงถึงเท่าใดก็ได้ สุดแท้แต่ความต้องการ
ปกติจำนวนผู้ร่วมเล่นวงแชร์ แต่ละวง จะมีอยู่ประมาณ 10 ถึง 30 คน
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2486
ตกลงเข้าหุ้นลงเงินเล่นแชร์เปียหวย แม้จำนวนเงินจะเกินกว่า 50 บาท ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพราะกรณีไม่ใช่เป็นการกู้ยืมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2515
การเล่นแชร์ เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ผู้เล่นมีสิทธิเลิกสัญญาได้
สัญญาแชร์เลิกกันเพราะวงแชร์เลิกล้มเสียก่อนที่จะมีการประมูลครั้งต่อไป ผู้เล่นแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล มีสิทธิฟ้องผู้เล่นอื่นซึ่งประมูลไปแล้วให้คืนเงินนั้นได้
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534
มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน
(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย
แชร์ คือ สิ่งที่อยู่คู่สังคมประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน เดิมนั้นไม่มีกฎหมายควบคุม เนื่องจากปัจจุบันได้รับความนิยมและเล่นกันเป็นอย่างกว้างขวาง การเล่นแชร์ดังกล่าวจึงยังกระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบ แล้วรัฐจึงได้ออกกฎหมายห้ามการประกอบธุรกิจประเภทนี้ ส่วนการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ยังให้กระทำต่อไปได้
การเล่นแชร์ ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูล หรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย
คำถาม-ตอบ คดีแชร์
การเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีข้อห้ามตามกฎหมายอย่างไรบ้าง?
ตอบ : ข้อห้ามตามกฎหมายที่มิให้เป็นนายแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีดังต่อไปนี้
1. ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนก็ห้ามด้วยเช่นกัน
2. บุคคลธรรมดา ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์
2.1. ห้ามมิให้มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน
2.2. ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง
2.3. ห้ามนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวง เป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท
2.4. นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่ง โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเท่านั้น
นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนาย
วงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย ซึ่งเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น นิติบุคคลไม่อาจสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนาย
วงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ได้ การที่สมาชิกวงแชร์เข้าร่วมเล่นแชร์กับบุคคลธรรมดาอันมีลักษณะต้องห้ามตาม ข้อ 2.1 , 2.2 , 2.3 และ 2.4 นั้นไม่ทำให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดซึ่งสมาชิกส่งรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูล หรือโดยวิธีอื่นใดแล้วต้องเสียไปเปล่า สมาชิกวงแชร์สามารถฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัด ให้มีการเล่นแชร์ได้
การโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์สามารถทำได้หรือไม่?
ตอบ : การโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าอนุญาตให้มีการโฆษณาชี้ชวนแล้ว จะมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ การใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในทางธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน และรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วต้องห้ามตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการประกาศของรัฐมนตรีแล้ว ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำที่รัฐมนตรีประกาศอยู่แล้ว ในมีวันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ
การเล่นแชร์กันก่อนที่กฎหมายประกาศ ใช้บังคับจะมีผลหรือไม่อย่างไร?
ตอบ :
1. ผู้ที่เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์กันก่อนที่กฎหมายจะกำหนดข้อห้าม อาจดำเนินการดังกล่าวเฉพาะวงแชร์ที่ค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าจะเสร็จ แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
2. ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลและประสงค์จะดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการ เล่นแชร์เฉพาะวงแชร์ที่ยังค้างอยู่ต่อไป ให้ยื่นรายการเกี่ยวกับกิจการการเล่นแชร์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน
3. ถ้านิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์เป็นนายวงแชร์ให้นิติบุคคลยื่นคำขอต่อนายทะเบียนยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ เว้นแต่นิติบุคคลนั้นยังมีการเล่นแชร์ที่ค้างอยู่ให้นิติบุคคลนั้นดำเนินการ ยกเลิกวัตถุประสงค์ดังกล่าวอย่างช้าต้องไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับใช้
4. สัญญาที่นิติบุคคลสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับสามารถใช้ได้
5. ผู้ที่ใช้ชื่อหรือแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” อยู่แล้ว ในวันที่กฎหมายใช้บังคับให้ใช้ชื่อหรือคำแสดงดังกล่าวต่อไปได้ไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เป็นผู้ที่มีวงแชร์ค้างอยู่ก็จะต้องดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์มีโทษแค่ไหนเพียงใด?
ตอบ :
การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์ มีทั้งโทษปรับและจำคุก แล้วแต่ลักษณะของความผิดที่น่ารู้ มีดังต่อไปนี้
1. การที่บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนมากกว่า 3 วง หรือมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หรือนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า ถึง 3 เท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์
3. ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
4. ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์หรือสัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใด แทนนายวงหรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวงแชร์ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย
5. ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1. เมื่อเจ้ามือหรือเจ้าลูก ผิดสัญญาสามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเรียกให้ชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยได้
2. ปัจจุบันยังมีความเข้าใจอยู่ว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีถูกโกง จึงไม่ไปดำเนินการแจ้งความหรือใช้สิทธิฟ้องร้องคดี
รับว่าความคดีแชร์ ทั่วประเทศ
ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อทนายหนิง โทร 093 597154
LINE ID : nungningdaw
เปิดบริการทุกวัน เวลา 7.00 - 20.00 น.







