คดีแพ่ง
Contact Us
Notice
คดีแบ่งทรัพย์มรดก
ลำดับชั้นของทายาทโดยธรรม ทางสายเลือด
1 ผู้สืบสันดาน ลูก หลาน เหลน โหลน รวมทั้งบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง และบุตรบุญธรรม
2 บิดามารดา
3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5 ปู่ ย่า ตา ยาย
6 ลุง ป้า น้า อา
หลักการแบ่งมรดก
1 หากเป็นสินสมรสต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาท
2 ทายาทลำดับชั้นก่อน ตัดทายาทลำดับชั้นหลัง โดย ลำดับชั้นที่ 1 และ 2 ไม่ตัดกัน
3 หากไม่มีทายาทชั้นที่ 6 ทรัพย์นั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน
4 ทายาทที่มีลำดับชั้นเดียวกันมีสิทธิรับมรดกคนละเท่าๆ กัน
5 ถ้าทายาทลำดับชั้นที่ 1 3 4 หรือ 6 ตายก่อนเจ้ามรดก ทายาทผู้ที่ตายมีสิทธิรับมรดกแทนที่
วิธีการแบ่ง อย่างง่ายๆ
1 ถ้ามีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ด้วย คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกเหมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
2 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 มีเพียงทายาทลำดับชั้นที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของบิดามารดา
3 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 และที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 3
4 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 4
5 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 5
6 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 6
7 ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมเลย คู่สมรสได้ทั้งหมด
การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทอาจทำได้ โดยวิธีดังนี้
1 ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ
2 โดยขายทรัพย์มรดก แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันระหว่างทายาท หรือ
3 โดยทำสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด (โดยนำหลักการในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับ)
ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท (ไม่ใช่ไปแบ่งให้บุคคลอื่นหรือญาติของตัวเอง) ดังนั้นการที่ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดก จึงต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะอ้างเรื่องอายุความมายันทายาทไม่ได้
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกาที่น่าสนใจ
ประเด็น ฟ้องผู้จัดการมรดก จัดการมรดกไม่ชอบ อายุความ 5 ปี
คำพิพากษาฏีกาที่ 12777/2558
โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่นาง ต. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหรือ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์โดยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรม และผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาง ต. ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนาง ต. ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 นั้น เป็นวันที่ล่วงเลยระยะเวลาหลังจากที่นาง ต. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปีนั้น ซึ่งเป็นอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่เป็นทายาทฟ้องเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แก่ตนกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความในมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกได้สิ้นสุดลง มิให้อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะในกรณีทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทด้วยกัน
ประเด็น แบ่งทรัพย์มรดกโดยการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว จะอ้างมาขอเรียกร้องใหม่อีกไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1452/2504
โจทก์จำเลยเป็นทายาทรับมรดกร่วมกัน ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัดกันไปแล้วนั้น การตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเช่นนี้ชอบด้วยมาตรา1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งใหม่ให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกหาได้ไม่
ประเด็น สัญญาแบ่งทรัพย์มรดก แม้ทายาทลงชื่อไม่ครบ ก็หาเสียไปไม่ เพียงแต่ไม่ผูกพันทายาทที่ไม่ได้ลงชื่อเท่านั้นเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 161/2524
สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น
ประเด็น เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2546
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม จะห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่บทบัญญัติดังกล่าว ก็บัญญัติยกเว้นไว้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 และมาตรา 745 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะฟ้องบังคับชำระหนี้เกินกว่า1 ปี นับแต่ผู้ร้องรู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของเจ้าของมรดก ผู้ร้องก็ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้
หลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1732 ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงาน แสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่ วันที่ระบุไว้ใน มาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดย จำนวนข้างมากหรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิดหรือข้อตกลงอื่นๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ ใน มาตรา 1732 นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง
มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำ มาตรา 850 มาตรา 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1748 ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แล้วก็ดี
มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
อัตราค่าบริการว่าความคดีฟ้องแบ่งปันมรดก
|
||
ลำดับ |
รูปแบบคดี |
ราคา(บาท) |
1
|
ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี |
-x- |
2
|
จัดทำบัญชีบันทึกข้อตกลงการแบ่งปันมรดก
|
-x- |
หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท